“หลังจากที่ได้มีการประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางการดำเนินงานตามคำวินิจฉัยของศาลฯ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น 1 คณะเพื่อพิจารณาหาข้อเท็จจริงรวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าประเด็นดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อรัฐอย่างไร รวมทั้งหาบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของผู้กระทำความผิดและผู้เสียหาย และได้แต่งตั้งพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ เป็นประธาน รวมทั้งจะมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ด้วย ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานในสังกัดทั้ง 2 แห่งได้มอบหมายให้ผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงานกลับไปดำเนินการ ส่วนในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรัฐนั้น ขณะนี้กระทรวงฯ ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าที่ชัดเจนได้ต้องรอผลการดำเนินงานจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ได้แต่งตั้งขึ้นนี้ก่อน” ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าว
ด้านพ.ต.อ.สุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “คณะกรรมการชุดนี้จะนำรายละเอียดจากคำพิพากษามาเป็นแนวทาง และนำข้อเท็จจริงที่จะได้จากการสอบสวนของคณะกรรมการฯ มาประกอบการพิจารณาในรายละเอียดว่ามีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแต่ละเรื่องอย่างไร และผลที่ได้ คือ ผู้ใดจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นบ้าง ซึ่งความผิดที่เกิดขึ้นนั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ความผิดทางอาญา ปปช.รับไปดำเนินการแล้ว และความผิดทางแพ่งซึ่งกระทรวงฯ จะต้องดำเนินการ”
ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ ได้แถลงต่อว่า “คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะพิจารณาหาข้อเท็จจริงในประเด็นเกี่ยวกับธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงฯ โดยตรงซึ่งจะมีอยู่ 3 กรณี คือ 1.การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ 2.การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียม 3.การอนุมัติการใช้เงินสินไหมทดแทนดาวเทียม โดยจะมีการนำคำวินิจฉัยของศาลฎีกามาพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนของคณะกรรมการฯ รวมทั้งจะมีการนำข้อมูลเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียม ซึ่งกระทรวงฯ ได้มีการดำเนินการอยู่ในขณะนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาอีกด้วย
ส่วนใน 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ บมจ.ทีโอที และบมจ.กสทฯ นั้น ก็จะมีการนำข้อมูลจากการดำเนินการตรวจสอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบมจ.ทีโอที 5 ฉบับ และบมจ.กสท โทรคมนาคม 5 ฉบับ ที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามมติประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลังได้เสนอไว้ มาประกอบการพิจารณาด้วยเนื่องจากเป็นประเด็นเดียวกัน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะครบกำหนด 90 วันตามกรอบที่ครม.เศรษฐกิจกำหนดในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคมศกนี้ แต่เนื่องจากจะมีการนำคำพิพากษาในครั้งนี้มาประกอบการตรวจสอบด้วย ดังนั้น กระทรวงฯ จะมีการทำหนังสือขอยืดระยะเวลาในการตรวจสอบออกไปอีกภายใน 90 วัน และกระทรวงไอซีที จะได้มีการหารือกับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสคร. ที่กำกับดูแลนโยบายรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์หน้าเกี่ยวกับประเด็นความเสียหายต่อรัฐด้วย อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการต่างๆ ของกระทรวงฯ นั้น จะทำไปพร้อมๆ กับการรอว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ภายใน 30 วัน”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT