อันดับเครดิตของ KTB (อันดับเครดิตภายในประเทศ AA+(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) มีพื้นฐานมาจากการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล รวมทั้งสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคาร ถึงแม้ว่าธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านของผลการดำเนินงานที่อาจปรับตัวลดลงในอนาคต KTB เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 17% และมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทยถือหุ้นในสัดส่วน 55% เมื่อพิจารณาถึงขนาดและความสำคัญของ KTB ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคาร ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากมีความจำเป็น ในขณะที่การที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคารมีส่วนช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตระยะยาวของ KTB ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นอาจทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารอ่อนแอลงได้ เนื่องจากธนาคารต้องสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ
แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้ชะลอตัวลงอย่างมากในปี 2552 แต่กำไรสุทธิของ KTB ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับเดิมที่ 12.2 พันล้านบาท (เทียบกับกำไรสุทธิปี 2551 ที่ 12.3 พันล้านบาท) ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเป็น 42.5 พันล้านบาท ในปี 2552 จาก 45.8 พันล้านบาทในปี 2551 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนที่ลดลง อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ลดลง รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ระหว่างธนาคารที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำ ดังนั้นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของ KTB จึงลดลงเป็น 3.2% ในปี 2552 จาก 3.9% ในปี 2551 อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์และอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนผู้ถือหุ้นของธนาคารยังคงทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ 0.9% และ 11.4% ในปี 2552
KTB ยังคงมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับสูงที่ 85.5 พันล้านบาท หรือ 8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2552 (เทียบกัน 86 พันล้านบาท หรือ 8.2% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2551) อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ปรับตัวดีขึ้นเป็น 47.3% จาก 41.4% ณ สิ้นปี 2551 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ประมาณ 70%
ถึงแม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเริ่มที่จะปรับตัวดีขึ้น และฟิทช์ได้ประมาณการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2553 ที่ 3% (ปี 2552: -2.3%) แต่อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านผลการดำเนินงาน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแออยู่ ด้วยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อของ KTB ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ อาจทำให้การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร
การระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ KTB ยังคงมีเสถียรภาพ เนื่องจากธนาคารเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีฐานลูกค้าเงินฝากที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย โดยพนักงานรัฐวิสาหกิจและข้าราชการส่วนใหญ่จะมีเงินฝากกับธนาคาร อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารปรับตัวดีขึ้นเป็น 89.1% ณ สิ้นปี 2552 จาก 98.5% ณ สิ้นปี 2551 จากอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวลง อัตราส่วนเงินกองทุนของ KTB อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเช่นกัน โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 10.1% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่ 15.9% ณ สิ้นปี 2552 จากการประเมินสถานะความแข็งแกร่งทางการเงินในกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัวลงไม่มากนัก (Low Stress Scenario) ธนาคารจะยังคงมีเงินกองทุนอยู่ในระดับที่เพียงพอ ถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานของธนาคารอาจถูกกระทบจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น
หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ นี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Global Financial Institution Criteria ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 และ National Ratings-Methodology Update ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ ‘AAA’ และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น ‘AAA(tha)’ ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4761
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759