เนื่องจาก สสวท. เน้นการสร้างความตระหนักให้เยาวชน ได้สนใจ สังเกต วิเคราะห์สิ่งรอบ ๆ ตัวอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ อาจารย์ราม จึงได้หยิบยกวัสดุอุปกรณ์ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน และจัดเตรียมกิจกรรมไปให้น้อง ๆ เยาวชน ได้ร่วมสนุกไปกับวิทยาศาสตร์มากมาย เช่น
“รักแช่แข็ง” นำดอกกุหลาบใส่ลงในถังบรรจุไนโตรเจนเหลว เมื่อนำออกมาจะแข็งกรอบ เนื่องจากไนโตรเจนเหลวทำให้ดอกกุหลาบแข็งตัว เรานำหลักการนี้ไปแช่แข็งเชื้อ น้ำเชื้อหรือเลือดเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาเอาไว้ใช้งาน
“เป่าลูกโป่ง” ใส่ไนโตรเจนเหลวในขวดปิดปากด้วยลูกโป่ง ทำให้ลูกโป่งโป่งออกมา เนื่องจากไนโตรเจนเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นแก๊ส ปริมาตรเพิ่มขึ้นประมาณ 1,600 เท่า
“ถูแล้วได้ดี” การถูที่หูจับของอ่างจักรพรรดิ ทำให้น้ำสั่นแล้วกระเด็นขึ้นมาตามหลักการสั่นพ้อง
“กบไม้ร้อง” เมื่อถูหลังกบด้วยไม้ เกิดเสียงเหมือนกบ เกิดจากการสั่นพ้องที่ช่องในตัวกบไม้
“ฟองใหญ่” ฟองสบู่ (ที่เกิดจากสูตรผสมพิเศษ) จะทำให้เกิดฟองใหญ่มาก ๆ และมีสีรุ้งสวยงาม ศึกษาความตึงผิว การหักเห และการแทรกสอดของแสง “จรวด” ใช้ความดันอากาศทำให้จรวดพุ่งออกไป
“ล่องเรือ” เรือป๊อกแป๊กมีหลักการทำงานโดยต้มน้ำให้เป็นไอน้ำ แล้วพ่นออกมา ทำให้เกิดแรงดันเรือออกไป
“กลิ้งๆ” ปล่อยลูกเหล็กเคลื่อนตามรางกลมเหมือนรถไฟตีลังกา
“ยุบหนอพองหนอ” สนุกกับไนโตรเจนเหลวที่ — 196 องศาเซลเซียส ศึกษาเรื่องความดัน อุณหภูมิ และปริมาตรของอากาศ
“หมุนแล้วตั้ง” ล้อจักรยานเมื่อหมุนแล้วจับเชือกที่ผูกแกนหลาง จะทำให้ล้อตั้งได้ และควงส่ายด้วย
“โยนไข่ไม่แตก” น้อง ๆ ได้โยนไข่ลงมาจากระเบียงชั้น 4 ของอาคาร 4 เพื่อพิสูจน์ว่ากลุ่มไหนที่โยนลงมาแล้วไข่แตก หรือไม่แตก ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของน้องแต่ละกลุ่ม ว่าประดิษฐ์อย่างไร เพื่อไม่ให้ไข่ของกลุ่มตัวเองแตกและได้เห็นความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ
กิจกรรมทั้งหมดสอนให้รู้จักคิด แก้ปัญหาต่าง ๆ ควบคู่กับวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา อาทิ กฎของ นิวตัน เรื่องโมเมนตัม การหมุนเกี่ยวกับล้อรถจักรยาน ได้คิดควบคู่กับกิจกรรม การทำฝักบัวมือถือ วิธีการแสดงความคิดให้เกิดความรู้ การเลือกดูไข่เพื่อเปรียบเทียบว่าไข่ที่มีฟองใดเป็นไข่สุกหรือฟองใดเป็นไข่ดิบทำให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้จากของจริง ประสบการณ์จริง สามารถออกความคิดจิตนาการได้อย่างกว้างขวางไม่จำกัดแค่ตัวหนังสือเพียงเท่านั้น ทำให้เราได้ความรู้ใหม่ ๆ ที่สนุกและไม่น่าเบื่อ สามารถนำไปพัฒนาการเรียนต่อไปได้
น้อง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมีความสนใจทางวิทยาศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ต่างก็สนุก แปลกใจและประทับใจกับกิจกรรมที่ สสวท. จัดให้
อย่างเช่น นางสาวอัจฉริยา เมืองแวง ชั้น ม.4/1 (ซายส์) บอกว่า ชอบ และดีใจที่ สสวท. ได้จัดกิจกรรมแบบนี้ให้กับเด็กที่อยู่ต่างจังหวัด กิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่สนุกและได้ความรู้ต่าง ๆ มากมาย ชอบกิจกรรมที่ให้ไปศึกษาและค้นคว้า คิดหาวิธีการในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทำกิจกรรมกลุ่มสนุก ๆ กับเพื่อน ๆ เช่น หาวิธีโยนไข่ลงมาจากชั้นที่ 4 โดยที่ไข่ไม่แตก เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน ตื่นเต้นมาก ๆ โดยเฉพาะตอนที่ลุ้นว่าไข่จะแตกหรือเปล่า
“กิจกรรมที่ซายส์สนใจและอยากจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อมากที่สุด คือ กิจกรรมโยนไข่ เพราะได้ คิดเองและได้ปฏิบัติจริง สามารถนำไปใช้โดยเวลาเราต้องการรักษาอะไรจากการกระแทก ก็สามารถนำเทคนิคและวิธีไปใช้ได้”
ส่วนสาวน้อยชั้น ม.4/1 กลุ่มนี้ นางสาววิมลรัตน์ สารทอง (น้อง) , นางสาวอภิญญา พลยืน (เหมียว) , นางสาวอรวี แก้วประเสริฐ และนางสาวศศิธร ศิลปศักดิ์ (เปรียว) บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้เปิดโลกใหม่ของการเรียนจากปกติที่อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมธรรมดา ๆ ที่น่าเบื่อจากตัวหนังสือ ได้ฝึกคิดสิ่งใหม่ ๆ จากจินตนาการที่ไม่จำกัด ไม่มีขอบเขตของความคิด ทำให้ได้นำความคิดมาทดลองปฏิบัติจริง เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากสิ่งต่าง ๆ ง่าย ๆ ที่อยู่ใกล้ตัว รู้จักว่าสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวคือ ความรู้ เหมือนหนังสือที่รอให้เราเปิดอ่าน
“วิชาวิทยาศาสตร์อาจจะมีเนื้อหามากมายหลายแขนงวิชาย่อย ทำให้บางทีเราเบื่อ แต่การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่แค่ในหนังสือเท่านั้น จากกิจกรรม Science Show ครั้งนี้ ทำให้เราได้รู้ว่าทุกกิจกรรมในชีวิตเราล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น และได้รู้ว่าของเล่นของเด็ก ๆ ตามข้างถนนก็สามารถนำมาพัฒนาความคิดของเรา และนำไปสู่การผลิตสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคตบางทีกิจกรรม Science Show นี้ อาจทำให้พวกเราเกิดแรงบันดาลใจในการเรียน จนได้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นสิ่งดี ๆ มาสู่โลกก็เป็นได้”
สำหรับคุณครูสมใจ ธรรมขันธ์ ครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์ ชั้น ม.4-5-6 โรงเรียนสตรีศึกษา ซึ่งเป็นครูในโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ ครู สควค. รุ่นที่ 5 ของ สสวท. เล่าว่า ดีใจและประทับใจเป็นอย่างมาก ที่ สสวท. ได้ให้ความช่วยเหลือทางโรงเรียนสตรีศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ในต่างจังหวัด ในการสนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนและครูได้พัฒนาศักยภาพตนเองในด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์
ชอบกิจกรรม Science Show ทุกรายการทั้งที่ได้ทำการแสดงสด และยังมีอีกบางรายการที่ไม่ได้แสดงสด เพราะว่าทุกกิจกรรมได้มาจากสิ่งของที่ไม่ไกลตัว องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ทำให้ครูได้แนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และเป็นแนวทางในการที่จะคิดหาวิธีการที่จะต่อยอดความรู้เหล่านี้ให้พัฒนาขึ้นไปในระดับสูงขึ้นได้
สำหรับแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ที่ได้จากกิจกรรมนี้ เช่น แนวทางในการจัดการเรียนการสอนจากเนื้อหาที่ยากให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ส่วนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาที่ตนเองสอนมีหลายรายการที่เกี่ยวข้องกับวิชาฟิสิกส์ เช่น การหมุนของล้อรถจักรยาน , Tippy Toy , ลูกข่างหึ่ง , การหมุนของไข่ (เพื่อพิจารณาไข่สุกไข่ดิบ) , ฝักบัวมือถือ เป็นต้น โดยรูสามารถนำกิจกรรมเหล่านี้ไปใช้สอนในเนื้อหาวิชาฟิสิกส์ การจัดกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ การจัดกิจกรรม Science Show ในโรงเรียน และพิจารณาต่อยอดไปถึงในระดับขั้นการแข่งขันในกิจกรรมวิทยาศาสตร์ร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ ในเขตพื้นที่การศึกษา
คุณครูสมใจ กล่าวต่อไปว่า การจัดกิจกรรม Science Show ในโรงเรียนนั้น เป็นการส่งเสริมให้ครูได้มีแนวทางในการจัดรูปแบบการเรียนการสอนโดยบูรณาการให้เข้ากับภูมิปัญญาของท้องถิ่น ส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกคิด วิเคราะห์ มีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น ส่งเสริมให้นักเรียนได้ศึกษาหาความรู้จากสิ่งใกล้ตัว เพื่อนำไปพัฒนาเป็นองค์ความรู้ใหม่ในขั้นสูงได้ ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นและส่งเสริมให้นักเรียนชอบการเรียนวิทยาศาสตร์ มีจิตวิทยาศาสตร์
ท้ายสุด คุณครูอภาริณี ฉิมสวัสดิ์ สอนวิชาเคมี ม.4-5-6 โรงเรียนสตรีศึกษา เล่าว่า ดีใจที่ สสวท. ออกมาจัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ ในโรงเรียนต่างจังหวัด ได้รับรู้และเห็นวิธีการจัด แสดง Science Show และการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายการแสดง ได้รู้ว่าเราสามารถใช้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว แม้แต่ของเล่นเด็กมาใช้ในการจัดแสดงได้
คุณครูอภาริณีนั้นมีความประทับใจอย่างมากต่อการใช้คำถามของวิทยากรที่กระตุ้นให้นักเรียนคิดหาคำตอบ ชอบการแข่งขันโยนไข่ไม่ให้แตก นักเรียนได้คิดอย่างอิสระ และสร้างสรรค์ ชอบการแสดงชุดลูกโป่งฟองสบู่ ลีลาการแสดงของวิทยากรสวยงาม ได้ลูกโป่งขนาดใหญ่มาก และชอบกิจกรรมฟักบัวมือถือ เรียบง่าย เก๋ไก๋ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อธิบายได้เห็นภาพมาก ชอบกิจกรรมที่ใช้ไนโตรเจนเหลวแสดงการ เปลี่ยนแปลงปริมาตรของแก๊สในลูกโป่ง เมื่อได้รับความรอน ชอบเทอร์มอมิเตอร์ที่มีลูกตุ้มหลอดแก้ว
“ในส่วนของตนเองนั้น การที่ได้เข้าสังเกตการณ์และร่วมสนุกในกิจกรรมแล้ว ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการ ตั้งคำถามให้นักเรียนคิดหาคำตอบ โดยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาที่ตนเองสอน คือ ประโยชน์ของไนโตเจนเหลว การเปลี่ยนแปลงปริมาตรของแก๊สในลูกโป่ง เมื่อได้รับความเย็น ความดันของอากาศ ความดันของของเหลว ซึ่งสามารถนำกิจกรรมเหล่านี้ไปสอนได้ โดยทำการทดลอง แสดงให้เห็นสมบัติของของเหลวและแก๊สได้” คุณครูอภาริณี กล่าวทิ้งท้าย