สืบเนื่องจากการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2552 ที่ให้อำนาจอนุมัติงบประมาณแก่รองนายกรัฐมนตรี โดยอ้างอิงผลการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค (ส.กกภ.) สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรีจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบงานการกำกับและติดตามดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและมีผลรายงานน่าเชื่อถือ แต่ที่ผ่านมา การประสาน ติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือในการกำกับติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิผลด้วยข้อจำกัดหลายประการ อาทิ โครงสร้างองค์กรที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งขาดองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับงานการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้มีการประสาน ติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือในการกำกับติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค เพื่อเปลี่ยนนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
โครงการนี้ใช้ระยะเวลา 10 เดือน ศึกษาในพื้นที่นำร่อง 12 จังหวัดประกอบด้วยจังหวัดอุทัยธานี ฉะเชิงเทรา ระยอง ราชบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ อุดรธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา เชียงใหม่ พิษณุโลก โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ กระจายตัวตามภาคและผู้ตรวจ ขนาดของประชากร เป็นพื้นที่มีกิจกรรมการผลิตหลากหลาย มีสถานการณ์ปัญหา อยู่ในเขตยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ โดยการศึกษารูปแบบและยุทธศาสตร์การกำกับติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ตลอดจนพัฒนากลไกและเครื่องมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ
ในการศึกษา คณะผู้วิจัยจะศึกษาบริบทและสาระสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ และการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค เพื่อนำมาวิเคราะห์จัดทำและนำเสนอรูปแบบ กลไก เครื่องมือ และแนวทางการกำกับติดตามการปฏิบัติราชการ ระบบการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยอาจเลือกประเด็นหลักในพื้นที่ศึกษาที่สะท้อนให้เห็นแนวทางการบูรณาการ การเชื่อมโยง ต่อยอด สนับสนุนซึ่งกันและกันของหน้าที่ของหน่วยงาน (Function) นโยบายสำคัญของรัฐบาล (Agenda) และความต้องการของพื้นที่ (Area) จำนวน 1 — 2 เรื่องมาเป็นตัวแบบในการพัฒนาระบบกำกับดูแล ที่ก่อให้เกิดการอำนวยการ การเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อให้การบริหารงานจังหวัด แบบบูรณาการสัมฤทธิ์ผล
เมื่อสิ้นสุดโครงการ คณะผู้วิจัยจะจัดทำคู่มือสำหรับกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะทำให้การกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคเป็นไปอย่างมีระบบ และเป็นมาตรฐาน บุคลากรและเจ้าหน้าที่ประสานงานหรือสนับสนุนงานด้านการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคสามารถปฏิบัติงานได้บรรลุตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานขององค์ความรู้ทางวิชาการ และเกิดระบบการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้แก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
เกี่ยวกับ สกว.
- สกว. จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2535
- สกว. เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช้ระเบียบราชการในการบริหารงาน จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยได้อย่างต่อเนื่องและคล่องตัว
- สกว.ไม่ทำวิจัยเอง แต่สนับสนุนงานวิจัยในรูปแบบต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการหลักคือ เพื่อการสร้างคน สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบวิจัยที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ปณิธาน “สร้างสรรค์ปัญญา เพื่อพัฒนาประเทศ”