กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย
ทันตแพทย์สุรพล ประเทืองธรรม (Suraphol Pratuangtum) นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สหภาพยุโรปเปิดตลาดกุ้งให้แก่กุ้งจากประเทศไทยนำมาซึ่งความยินดีของผู้เลี้ยงกุ้ง แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า อียูเป็นตลาดใหญ่ที่มีความเข้มงวดในการนำเข้ากุ้งเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพ และความปลอดภัยในอาหาร ถึงขนาดมีการกำหนดว่าไม่อนุญาตให้ตรวจพบสารตกค้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ก็ได้พยายามจัดมาตรฐานฟาร์มให้เข้าเกณฑ์มาตรฐานผลิตกุ้งปลอดสารเพื่อมุ่งเน้นให้กุ้งจากไทยสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภคอียูให้ได้มากที่สุด
ทันตแพทย์สุรพล กล่าวอีกว่า กระแสความปลอดภัยในอาหาร หรือ ฟู้ด เซฟตี้ มีบทบาทต่อสินค้าอาหารส่งออกมากขึ้นด้วยเหตุผลของการลดความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งอียูก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และได้ให้ความหมายของฟู้ด เซฟตี้ ในสมุดปกขาว (White Paper) ว่า จะต้องมีความปลอดภัยในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่ระดับฟาร์ม จนถึงสินค้าแปรรูป โดยมีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ และสามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ทุกขั้นตอน ที่สำคัญจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้และมีการจัดตั้งหน่วยงานกลางในการกำหนดกฎเกณฑ์แนวทางระดับความปลอดภัย ซึ่งกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก็ได้ร่วมมือปฏิบัติตามระบบการเลี้ยงกุ้งปลอดสาร (Probiotic Farming) มีการวางระบบการเลี้ยงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ CoC และมีมาตรฐานการเพาะเลี้ยงกุ้งที่ดี ที่สำคัญ...ประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องของ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับหรือ Traceability ที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้นำเข้ากุ้งของอียูเลือกที่จะนำเข้ากุ้งจากประเทศไทยเป็นอันดับแรก
“กุ้งไทย ได้รับการยอมรับว่าเป็นกุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก โดยหลังจากที่กุ้งไทยได้คืนสิทธิจีเอสพี ผู้นำเข้าอียูก็คึกคัก หันมาสั่งกุ้งของไทย และลดการนำเข้ากุ้งจากบราซิลกับมาดากัสการ์ที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสซึ่งไม่เสียภาษี จนขณะนี้กุ้งไทยกลายเป็นผู้นำในตลาดอียูแล้ว คาดว่ายอดการส่งออกกุ้งไทยในปี 2549 จะสูงถึงเกือบ 30,000 ตัน หรือสูงขึ้นถึง 60 % ซึ่งจะต้องใช้วัตถุดิบกุ้งจากปากบ่อของเกษตรกรราว 50,000 ตัน”
นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย ยังให้ข้อมูลอีกว่า สภาพตลาดผู้นำเข้ากุ้งของอียูนั้น แตกต่างจากที่อื่นๆ เนื่องจากอียู เป็นสหภาพที่ประกอบด้วยสมาชิกถึง 25 ประเทศ ทำให้ผู้นำเข้ากุ้งล้วนแต่เป็นผู้นำเข้ารายย่อย ขณะที่ผู้นำเข้าในสหรัฐฯและญี่ปุ่น จะเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ อีกทั้งวัฒนธรรมการบริโภคกุ้งของคนยุโรปก็นิยมบริโภคกุ้งที่ไม่ปรุงแต่งมากนัก ส่วนใหญ่จะต้องการกุ้งสดที่มีหัวติดอยู่ด้วย (Head on) และส่วนหัวก็เป็นส่วนที่เน่าเสียเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ทำให้กุ้งสดที่ส่งไปตลาดอียู ต้องสดและมีคุณภาพดีจริงๆ ซึ่งสอดคล้องกับคุณภาพกุ้งของไทยเป็นอย่างยิ่ง
และเพื่อตอกย้ำการผลิตกุ้งปลอดสาร ยกระดับคุณภาพกุ้งไทยให้สูงขึ้นไปอีกระดับ สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย จึงได้ร่วมมือกับกรมประมง และสมาคมชมรมผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่ต่างๆ กำหนดจัดสัมมนาเรื่อง “เลี้ยงกุ้งอย่างไร เพื่อไปอียู” ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2548 นี้ที่จังหวัดจันทบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา
อนึ่ง ข้อมูลการนำเข้ากุ้งของสหภาพยุโรป ปี 2547 ของยูโรสเต็ด (Eurostat) นำเข้ากุ้งทั้งหมด 667,172 ตัน จากไทย 7,688 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 1.15%) จากบราซิลราว 42,834 ตัน จากอินเดีย 37,048 ตัน จากเอกวาดอร์ 31,071 ตัน บังคลาเทศ 21,300 ตัน มาเลเซีย 19,433 ตันและจากมาดากัสการ์ ราว 11,222 ตัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ทันตแพทย์สุรพล ประเทืองธรรม
นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย
โทร. 06-6865776--จบ--
- ม.ค. ๒๕๖๘ ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ตบเท้ายื่น จดหมายเปิดผนึกนายกตู่ ขอบคุณช่วยแก้ วิกฤติโควิด 19 ขอให้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง-ตรวจเข้มสินค้าสัตว์น้ำ อาหารทะเล อาหารต่างๆ
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย และชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ฯ มอบรางวัลเกียรติคุณ “กุ้งทอง” แก่ซีพีเอฟ
- ม.ค. ๒๕๖๘ นายก ส.กุ้งไทย ชี้อุตฯกุ้งไทย ปี 60 สามารถแก้ปัญหาโรคได้ ด้วยแนวทางการจัดการการเลี้ยงที่ได้ผล การเลี้ยงโดยรวมประสบความสำเร็จ