กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กทม.
นายยลโชค สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้ พ.ร.บ. จัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 และทำให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป
สำหรับ พ.ร.บ. จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 มีสาระสำคัญประกอบด้วย 8 หมวด 89 มาตรา ประกอบด้วย หมวดที่ 1 ว่าด้วยคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ในระดับชาติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน จำนวน 1 คณะ เพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแล ออกกฎระเบียบ เกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ หมวดที่ 2 ว่าด้วยคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนจังหวัด กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ในทุกจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ มีหน้าที่กำกับดูแล อนุมัติ อนุญาตโครงการจัดรูปที่ดินในแต่ละจังหวัด สำหรับกรุงเทพมหานครมีคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักผังเมืองเป็นเลขานุการ หมวดที่ 3 ว่าด้วยสมาคมจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ กำหนดให้มีการจัดตั้งสมาคมจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ขึ้นโดยการรวมตัวของเจ้าที่ดินในรูปแบบของนิติบุคคล จดทะเบียนต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนจังหวัดเป็นสมาคมที่แยกต่างหากจากกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวดที่ 4 ว่าด้วยบททั่วไปเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ สาระสำคัญของหมวดนี้ กำหนดผู้ดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ อันประกอบด้วย สมาคม กรมโยธาธิการและผังเมือง การเคหะแห่งชาติ องค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ หรือนิติบุคคลอื่นใด ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการจัดรูปที่ดินรวมทั้งเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องต่างๆ
หมวดที่ 5 ว่าด้วยการเสนอโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ เป็นการกล่าวถึงรายละเอียดของการนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัด หมวดที่ 6 ว่าด้วยการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วย กระบวนการและขั้นตอนทั้งหมดของการดำเนินการโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ หมวดที่ 7 ว่าด้วยกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่กล่าวถึงรายละเอียดของกองทุนการบริหารจัดการกองทุน อำนาจและหน้าที่ของกองทุนและส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ หมวดที่ 8 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาลมีสาระสำคัญเกี่ยวกับบทลงโทษที่มีกำหนดทั้งโทษจำและปรับ
ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ. จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 จะเป็นปัจจัยสำคัญ และผลักดันให้โครงการจัดรูปที่ดินเกิดผลในทางปฏิบัติมากที่สุด อีกทั้งทำให้สามารถดำเนินการตามโครงการได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นหลักที่สำคัญ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งปวงในการจดทะเบียน สามารถดำเนินโครงการได้หากได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของที่ดินเพียง 2 ใน 3 ของเจ้าที่ดินและเนื้อที่ รวมทั้งสามารถนำที่สาธารณประโยชน์ และลำรางสาธารณะมาใช้พัฒนาโดยจัดหา ที่ดินทดแทนได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นรัฐอาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาเพื่อใช้ในโครงการจัดรูปแบบที่ดินได้ นอกจากนี้มีองค์กรคอยตรวจสอบ ควบคุม กำกับการดำเนินงานของสมาคม และการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ไม่ถือว่าเป็นการจัดสรรที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่สำคัญมีความรอบคอบรัดกุมในการดำเนินโครงการ เนื่องจากมีผู้ตรวจสอบสมาคม และมีกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ทำให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินของโครงการ ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการคัดสรรทรงคุณวุฒิ เพื่อดำรงคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระดับชาติ เพื่อกำหนดกฎระเบียบ เกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่มาบังคับใช้ต่อไป
อย่างไรก็ตามเมื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว แล้วจะส่งผลให้ การวางแผนพัฒนาและบริหารจัดการเมือง สำเร็จและบรรจุตามเป้าหมาย ลดปัญหาการพัฒนาที่ซับซ้อน และเป็นการจัดเตรียมพื้นที่ ซึ่งรอการพัฒนาในอนาคตต่อไปด้วย ผอ.สผม. กล่าวในที่สุด--จบ--