ฟิทช์ปรับแนวโน้มเครดิตบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นลบและจัดอันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ชุดใหม่ที่ ‘BBB+(tha)’

ศุกร์ ๑๒ มีนาคม ๒๐๑๐ ๑๒:๓๒
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับแนวโน้มเครดิตของ บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF เป็นลบ จากมีเสถียรภาพ และประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ SF ที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2553 และปี 2556 ของ SF ที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ นอกจากนี้ ฟิทช์ยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ จำนวน 300 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2556 ของ SF ที่ระดับ ‘BBB+(tha)’

การปรับแนวโน้มเครดิตของ SF เป็นลบสะท้อนถึงรายได้ค่าเช่าและค่าบริการที่ต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากการที่ SF ให้ส่วนลดค่าเช่าแก่ผู้เช่าบางรายที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการที่ผู้เช่าบางรายซึ่งได้รับผลกระทบดังกล่าวไม่สามารถต่ออายุสัญญาเช่าได้ รวมถึงการลงทุนที่สูงกว่าที่คาดการณ์และต้นทุนในโครงการใหม่ๆ ที่สูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้อาจชะลอการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของ SF ออกไปอีก นอกจากนี้ ความล่าช้าในการเปิดโครงการใหม่อาจทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ SF ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

รายได้รวมของ SF ในปี 2552 ลดลงร้อยละ 13.4 จากปี 2551 มาอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากรายได้จากสัญญาเช่าการเงินที่ลดลงร้อยละ 63.3 เนื่องจากพื้นที่ให้เช่าที่ส่งมอบภายใต้โครงการใหม่ในปี 2552 มีปริมาณน้อยกว่าในปี 2551 การลดลงของรายได้จากสัญญาเช่าการเงินซึ่งมีอัตราส่วนกำไรค่อนข้างสูงยังส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (EBITDAR) ในปี 2552 ลดลงร้อยละ 32 จากปี 2551 มาอยู่ที่ 598 ล้านบาทอีกด้วย ในขณะที่รายได้ค่าเช่าและค่าบริการในปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากปี 2551 เป็น 1.2 พันล้านบาท แต่รายได้ดังกล่าวยังต่ำกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ เนื่องจาก SF ให้ส่วนลดค่าเช่าแก่ผู้เช่าบางรายที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และผู้เช่าบางรายซึ่งได้รับผลกระทบดังกล่าวไม่สามารถต่ออายุสัญญาเช่าได้ อย่างไรก็ตาม อัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยยังคงอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 98 ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงดังกล่าวประกอบกับการลงทุนในโครงการ Mega Bangna ที่สูงกว่าที่คาด แม้จะมีเงินรับจากการขายโครงการศูนย์การค้าที่เขาใหญ่ให้แก่ผู้เช่าพื้นที่หลักมาชดเชยบางส่วนก็ตาม ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Adjusted Net Debt to EBITDAR) ของ SF ณ สิ้นปี 2552 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 6.3 เท่าจาก 4.3 เท่า ณ สิ้นปี 2551 และสูงกว่าที่ประมาณการไว้ที่ระดับ 5.2 เท่า ถึง 5.5 เท่า

อันดับเครดิตของ SF อาจถูกปรับลดลง หากอัตราส่วนหนี้สินซึ่งวัดโดยหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Adjusted Net Debt to EBITDAR) ของบริษัทไม่สามารถลดลงจนต่ำกว่า 4.0 เท่าได้ภายในปี 2555 ซึ่งอาจเป็นผลมาจากอัตราการเติบโตของผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด หรือการลงทุนที่มีแหล่งเงินทุนจากกู้ยืมที่สูงกว่าที่คาดไว้ ในทางกลับกัน รายได้ค่าเช่าและค่าบริการที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของหนี้สินสุทธิและอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า 4.0 เท่า อาจส่งผลให้มีการปรับแนวโน้มเครดิตของ SF กลับสู่แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพเช่นเดิม

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่มั่นคงและความเชี่ยวชาญของ SF ในธุรกิจพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าขนาดกลางแบบเปิด รวมถึงคุณภาพของโครงการศูนย์การค้าภายใต้การบริหารของ SF ที่อยู่ในระดับสูงเป็นผลมาจากปริมาณพื้นที่ให้เช่า (Gross Leasable Area, GLA) ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องตามจำนวนศูนย์การค้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ย (Average Occupancy Rate) ที่อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ให้เช่าตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ อันดับเครดิตถูกลดทอนด้วยอัตราส่วนหนี้สินของ SF ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลจากการขยายธุรกิจอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และการลงทุนขนาดใหญ่ในกิจการค้าร่วมกับ IKEA อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนในการขยายธุรกิจได้รับการบรรเทาลงบางส่วนจากการที่ SF สามารถเรียกเก็บเงินค่าเช่ารับล่วงหน้าและเงินมัดจำรับ (Upfront Payment and Rental Deposits) จากผู้เช่าพื้นที่หลัก (Anchor Tenants) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของเงินลงทุนในโครงการใหม่

นอกจากนี้ สภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ยังคงอ่อนแอยังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งสำหรับธุรกิจพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าปลีก ความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลงอาจส่งผลให้การเปิดตัวของโครงการใหม่ๆ ล่าช้ากว่าที่กำหนดและอาจทำให้อัตราค่าเช่าลดลงหรืออัตราการเช่าพื้นที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ สภาพคล่องและอัตราส่วนหนี้สินของบริษัท

หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ นี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Corporate Rating Methodology ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552

ติดต่อ: สมฤดี ไชยวรรัตน์ +662 655 4762, พิมรำไพ ปันยารชุน +662 655 4752, Vincent Milton, +662 655 4755

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ