สธ. รุก แก้ปัญหาเด็ก IQ ต่ำ ดึงเจ้าหน้าที่จังหวัดเร่งเสริมไอโอดีนและธาตุเหล็ก สร้างความฉลาดให้เด็กไทย

พุธ ๒๑ กันยายน ๒๐๐๕ ๑๖:๔๕
กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมโครงเด็กไทยเฉลียวฉลาด ประเทศชาติแข็งแรง สร้างความรู้ ความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด ในการดำเนินงานในการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนและภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ส่งผลให้เด็กมีความสมบูรณ์ทางสมอง ฉลาด ทัดเทียมกับสากล
เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ศาสตราจารย์นายแพทย์สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการเด็กไทยเฉลียวฉลาด ประเทศชาติแข็งแรง ณ ห้องบอลรูม ชั้น 1 โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพมหานคร ว่า สารไอโอดีนและธาตุเหล็ก เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาด้านสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดในเด็ก หากเด็กขาดสารไอโอดีนตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนอายุ 2-3 ปี มีผลทำให้สมองมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลดความเฉลียวฉลาด IQ หรือระดับสติปัญญาของเด็กได้ถึง 10-13 จุด ที่สำคัญหากหญิงตั้งครรภ์ขาดสารไอโอดีนจะทำให้ทารกตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือแท้งหรือพิการแต่กำเนิด เด็กที่เกิดมาจะปัญญาอ่อน เป็นใบ้ ช่วยตนเองไม่ได้ เป็นเด็กเอ๋อ ส่วนทารกที่คลอดจากแม่ที่พร่องธาตุเหล็กระดับสติปัญญาหรือ IQ จะลดลงประมาณ 5-10 จุด ซึ่งส่งผลให้การเรียนรู้เชิงพัฒนาการลดลง เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่มีการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งผลกระทบนี้ไม่สามารถแก้ไขให้กลับไปเท่ากับเด็กปกติได้ และหากขาดธาตุเหล็กในช่วงวัยเรียนจะทำให้นักเรียนมีสมาธิสั้น ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน มีผลทำให้คะแนนการเรียนรู้และระดับสติปัญญาลดน้อยลงด้วย
ศาสตราจารย์นายแพทย์สุชัย กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจสถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนของประเทศไทย ปี 2546 พบว่า มีการครอบคลุมการกระจายเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนระดับครัวเรือนร้อยละ 63.5 ซึ่งถือว่า อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด คือ การครอบคลุมระดับครัวเรือนอย่างน้อยร้อยละ 90 ซึ่งเป็นระดับที่มีความเชื่อมั่นว่าประชาชนจะได้รับสารไอโอดีนอย่างทั่วถึงและเพียงพอ สำหรับการตรวจคุณภาพเกลือเสริมไอโอดีนที่มีจำหน่ายทั่วประเทศพบว่า เกลือไอโอดีนทั้งหมดที่สุ่มตรวจเป็นเกลือที่มีคุณภาพเพียงร้อยละ 50.6 สำหรับภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในหญิงตั้งครรภ์ ปี 2546 พบร้อยละ 12.4 กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้จึงได้มีนโยบายที่จะเสริมสร้างความเฉลียวฉลาด ตลอดจนพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็กไทยให้เต็มศักยภาพ โดยหญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่มาฝากครรภ์ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง จะได้ความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพแม่ระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด โภชนาการของแม่และอาหารเสริมสร้างสมองลูก พร้อมรับแจกเกลือเสริมไอโอดีนไปปรุงอาหารที่บ้าน
“อีกทั้งยังได้สนับสนุนชุดทดสอบเกลือเสริมไอโอดีนสำหรับสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งด้วย สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปในคลีนิกเด็กดี จะได้รับยาน้ำวิตามินเสริมธาตุเหล็กสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการให้มี Mr. IQ ซึ่งจะช่วยในเรื่องการดูแลสุขภาพแม่และเด็กในระดับจังหวัด โดยให้แม่และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ดังนั้น การจัดประชุมโครงการเด็กไทยเฉลียวฉลาดประเทศชาติครั้งแข็งแรงในครั้งนี้ จึงเป็นการชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดซึ่งจะเป็นแกนหลักสำคัญในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวได้มีความรู้ความเข้าใจตรงกัน เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน และภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ทารกและเด็กมีความสมบูรณ์ทางสมอง มีความสามารถในทุก ๆ ด้านทัดเทียมกับสากล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในที่สุด--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ