อันดับเครดิตของ TMB สะท้อนถึงเงินกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากการเพิ่มทุนของ ING Bank NV (ING อันดับเครดิตที่ ‘A+’/‘F1+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ในเดือนธันวาคม 2550 ผลการดำเนินงานของธนาคารมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการที่ธนาคารจะกลับมาเน้นในด้านการขยายธุรกิจมากขึ้นหลังจากการปรับโครงสร้างการดำเนินงานที่มี ING มาร่วมด้วยเสร็จสิ้นลง อย่างไรก็ตามธนาคารยังมีความเสี่ยงด้านผลประกอบการ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่ยังคงอ่อนแอ
แม้ว่าผลการดำเนินงานของ TMB ได้ปรับตัวดีขึ้นในปี 2552 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอ โดยธนาคารมีกำไรสุทธิเพียง 2.1 พันล้านบาท และมีอัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์ที่ 0.4% ส่วนใหญ่เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากขนาดสินเชื่อของธนาคารที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง (ลดลง 13.7% จากปลายปี 2551) และผลขาดทุนจากการด้อยค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการขายสินทรัพย์รอการขายของธนาคารในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 TMB มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลงเป็น 0.7% ของสินเชื่อเฉลี่ยในปี 2552 จาก 1.1% ของสินเชื่อเฉลี่ยในปี 2551 เนื่องจากการทบทวนคุณภาพสินเชื่อของธนาคารใกล้จะเสร็จสิ้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของ TMB ลดลงเป็น 2.5% ในปี 2552 จาก 2.9% ในปี 2551 เนื่องจากการหดตัวของสินเชื่อของธนาคาร และการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและมีผลตอบแทนต่ำ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 เนื่องจากการลดลงของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการขยายตัวของสินเชื่อที่สูงขึ้น
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ TMB ได้ลดลงอย่างมากเป็น 54.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 จาก 70.6 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มูลค่า 15 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 14.8% ณ สิ้นปี 2552 (16.5% ณ สิ้นปี 2551) TMB ยังคงมีอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นที่ 57.3% ณ สิ้นปี 2552 ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอ่อนแอและธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ส่งผลให้ TMB ยังคงมีความเสี่ยงในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญและการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคาร
ณ สิ้นปี 2552 TMB มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมเพิ่มขึ้นเป็น 12.3% และ 17.1% ของสินทรัพย์เสี่ยง จาก 10.1% และ 13.9% ของสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้นปี 2551 ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงของสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารจากสินเชื่อที่ลดลงและการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิจำนวน 5.3 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ทั้งนี้ระดับเงินกองทุนดังกล่าวน่าจะสามารถรองรับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอได้ในระดับหนึ่ง และจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับการตั้งสำรองเพิ่มเติมได้
TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทย โดยมีสินทรัพย์รวม 543.6 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 ING เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดในสัดส่วน 30% ผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่น ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง 26% และ DBS Bank ของสิงคโปร์ 7% ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น
หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ นี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Global Financial Institution Criteria ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 และ National Ratings-Methodology Update ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ, Vincent Milton กรุงเทพฯ +662 655 4761/4759