กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ “BBB+” จากเดิมที่ “BBB-” และเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารมาอยู่ที่ระดับ “BBB” จากเดิมที่ “BB+” โดยมีแนวโน้ม “Positive” หรือ “บวก” ซึ่งสะท้อนมูลค่าทางธุรกิจที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการกับธนาคารดีบีเอสไทยทนุ จำกัด (มหาชน) (DTDB) และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บรรษัท) โดยที่การจัดอันดับยังพิจารณาถึงฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากการเพิ่มทุนในปี 2546 ด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกจำกัดโดยความเสี่ยงจากการปรับโครงสร้างองค์กรหลังการควบรวมกิจการในเดือนกันยายน 2547
แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจะดีขึ้น การควบรวมกิจการจะทำให้ธนาคารมีขนาดของสินทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 นอกจากนี้ ยังคาดว่าจุดแข็งของแต่ละสถาบันที่ควบรวมจะเสริมให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นแก่ธนาคาร และจะช่วยให้ธนาคารมีสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจรตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งจะยังคงติดตามตรวจสอบความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในช่วงของการปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า การเพิ่มเงินทุนจำนวน 22,417.5 ล้านบาทภายใต้แผนการเพิ่มทุนในเดือนกันยายน 2546 ทำให้ธนาคารทหารไทยสามารถเพิ่มสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 8% หลังจากตั้งสำรองเต็มจำนวน เงินเพิ่มทุนดังกล่าวทำให้ธนาคารสามารถตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวน 16,000 ล้านบาท และยังสามารถไถ่ถอนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนภายใต้ชื่อ Super Cap จำนวน 13,280 ล้านบาท รวมทั้งหุ้นกู้ด้อยสิทธิจำนวน 6,000 ล้านบาทที่ออกในปี 2542 การไถ่ถอนตราสารดังกล่าวทำให้ธนาคารสามารถลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้อย่างมีนัยสำคัญเป็นจำนวนถึง 2,300 ล้านบาทต่อปี และในเดือนกันยายน 2546 บริษัท บริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด (PAMC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารได้โอนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 19,533 ล้านบาทแก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารซึ่งรวมของบริษัทลูกลดลงจาก 22.9% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2545 เหลือเพียง 14.8% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2546
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า การเพิ่มทุนยังทำให้ธนาคารมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น โดยหลังจากการควบรวมกิจการกับ DTDB และบรรษัทในเดือนกันยายน 2547 ธนาคารมีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 5 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย จากเดิมอยู่ที่อันดับ 8 โดยคาดว่ามูลค่าทางธุรกิจของธนาคารจะเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากจุดแข็งทางด้านสินเชื่อโครงการตลอดจนการมีฐานลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของบรรษัท ในขณะที่ DTDB เองก็มีฐานลูกค้า SME ที่มีคุณภาพพร้อมด้วยเครือข่ายลูกค้ารายย่อย ในส่วนของธนาคารเองก็มีจุดเด่นด้านความชำนาญในตลาดในประเทศและเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุม การควบรวมกิจการของทั้ง 3 สถาบันดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เกิดการส่งเสริมซึ่งกันและกัน และเป็นการเสริมฐานสำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจรเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันเพื่อให้ธนาคารสามารถให้บริการด้านการธนาคารได้อย่างเต็มรูปแบบ
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 ธนาคารมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 672,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 407,068 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 อย่างไรก็ตาม หลังจากการควบรวมกิจการ ธนาคารต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินงานและการบริหารทรัพยากรบุคคล จึงทำให้เกิดความเสี่ยงจากการปรับเปลี่ยนองค์กรจากความพยายามในการรวมพนักงานของทั้ง 3 องค์กรเข้าด้วยกัน ซึ่งคาดว่าการรวมองค์กรน่าจะใช้เวลาที่จะให้บรรลุภารกิจและเป้าหมายของธนาคาร ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--