ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานสภาธุรกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion :GMS) กล่าวกับ “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” ถึงสถานการณ์วิกฤติภัยแล้งในลุ่มน้ำโขง ว่า ในกรณีนี้จีนได้เคยออกมาอธิบายแล้วว่าไม่ได้กักน้ำจนทำให้แม่น้ำโขงแห้ง คิดว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะจีนได้เปิดให้ตรวจสอบ และได้มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์แสดงระดับปริมาณการกักน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ส่งผลถึงขั้นทำให้แม่น้ำโขงแห้ง อีกทั้งการกักน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้นก็ต้องมีการปล่อยออกมาอยู่ตลอด จึงเชื่อว่ากรณีนี้เกิดมาจากปัญหาความแห้งแล้งมากกว่า
“การที่จีนจะกักน้ำไว้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้านั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะช่วงพื้นที่บริเวณเขื่อนที่ต้องกักน้ำนั้นไม่ใช่บริเวณอู่ข้าวอู่น้ำที่ต้องกักน้ำไว้ ซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องปล่อยน้ำออกมา และจากประสบการณ์ที่เคยสำรวจพื้นที่ในจีนบริเวณตอนใต้ของการสร้างเขื่อนประสบปัญหาแล้งจริงๆ ส่วนบริเวณเหนือเขื่อนขึ้นไปนั้นไม่แน่ใจว่าแล้งหรือไม่ ต้องตรวจสอบกันต่อไป”
ดร.ชิงชัย กล่าวถึงประเด็นที่น่าห่วงใยหากเกิดภัยแล้งหนักว่า ผลกระทบตามมากกว่าเพียงประเด็นการสร้างเขื่อน ประเทศที่น่าห่วงมากที่สุด คือ ประเทศเวียดนามและกัมพูชาที่ต้องรับปัญหาหนักมากหากเกิดภัยแล้งมากๆ เพราะอยู่ปลายน้ำ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ที่มีประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามก็ควรพยายามเจรจาร่วมกันตรวจสอบปัญหาแล้งนี้เพื่อหาแนวทางเสนอประเทศจีน ในฐานะที่เป็นประเทศต้นน้ำซึ่งมีสิทธิที่จะกักเก็บน้ำได้ และเชื่อว่าจีนคงต้องยอมรับฟังปัญหาแน่นอน แม้จีนจะไม่ได้เป็นสมาชิกเอ็มอาร์ซีก็ตาม
“ขณะนี้เราไม่มีกฎหมายในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรน้ำ ดังนั้น ประเทศต้นน้ำก็มีสิทธิที่จะเก็บกักน้ำในส่วนที่ไหลผ่านพื้นที่ของตน ทำให้จีนได้เปรียบ เพราะอยู่ต้นน้ำ ซึ่งหลายฝ่ายอาจไม่พอใจนัก เกิดประเด็นที่มากกว่าแค่การแย่งชิงน้ำ มีผลกระทบถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับแม่น้ำนานาชาติ (International The River) ด้วย ในส่วนนี้ยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมการกักเก็บน้ำของประเทศต้นน้ำได้ ในลักษณะนี้มีเพียงกฎหมายทะเล (Law of The Sea) การแก้ปัญหาเพื่ออนาคตนั้นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย” ดร.ชิงชัย กล่าว
ขณะที่ นายพิษณุ เหรียญมหาสาร รองอธิการบดีและคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา กล่าวถึงเรื่องเดียวกัน ถึงสถานการณ์แม่น้ำโขงมีระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปีว่า เป็นเรื่องปกติของฤดูแล้ง ซึ่งไม่คิดว่าจะเป็นเพราะจีนกักน้ำในแม่น้ำสาขาไว้
“หากย้อนดูในฤดูแล้งปีก่อน ๆ ก็มีประสบปัญหานี้เช่นกัน แต่อาจจะไม่หนักเท่า จึงไม่ควรจะรีบสรุปว่าจีนเป็นต้นเหตุ ซึ่งต้องมีการศึกษากันก่อน” นายพิษณุ กล่าว และว่า ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นในแง่ของการเกษตรนั้น คิดว่าปัญหาน้ำแล้งนี้คงไม่ใช่จากกรณีแม่น้ำโขงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับระบบบริหารจัดการของเกษตรกรด้วย คงต้องไปดูแม่น้ำสายอื่น เช่น แม่น้ำมูลของเราว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้หรือไม่ ส่วนการขนส่งสินค้าผ่านทางแม่น้ำโขงนั้นคิดว่าไม่ส่งผลกระทบมากหนัก เพราะ ส่วนใหญ่การขนส่งทางนี้ไม่ได้มีมากเช่นในอดีตแล้ว
เมื่อถามถึงกรณีมี ความพยายามจะพูดคุยเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งแม่น้ำโขงกับทาง ประเทศจีน นายพิษณุ กล่าวว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแน่นอน ซึ่งก็ไม่อยากให้รีบตัดสินหรือสรุปไปก่อน โดยไม่มีการพิสูจน์ตรวจสอบอย่างแน่ชัด
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th