ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากปัญหาราคาน้ำมันแพง และผวาการเมืองยุ่ง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 53

พุธ ๒๔ มีนาคม ๒๐๑๐ ๑๔:๑๕
ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากปัญหาราคาน้ำมันแพง และผวาการเมืองยุ่ง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 53 ลดลง เอกชนแนะรัฐควบคุมสถานการณ์การเมืองไม่ให้รุนแรง

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,165 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 114.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม 2553 ที่ระดับ 115.4 ทั้งนี้เป็นผลมาจากองค์ประกอบดัชนีด้านยอดขายรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการปรับตัวลดลง ในขณะที่องค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อรวมปรับตัวสูงขึ้น การบริโภคในประเทศลดลง ซึ่งมาจากความวิตกกังวลในสถานการณ์ทางการเมือง ในขณะที่ความเชื่อมั่นจากยอดขายในตลาดต่างประเทศยังคงปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากนี้การปรับขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีก ก็ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้นด้วย

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 111.0 ในเดือนมกราคม อยู่ที่ระดับ 114.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อรวม ยอดขายรวม และปริมาณการผลิตและผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความกังวลในต้นทุนประกอบการในอนาคตว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอีก ทั้งจากราคาน้ำมัน ราคาน้ำตาลและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในต้นทุนประกอบการณ์คาดการณ์ลดลง

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ ดัชนีความเชื่อมั่นของ อุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมขนาดกลางปรับตัวลดลง โดยที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อมลดลงเนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคในประเทศ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ยอดขายในประเทศปรับตัวลง ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆได้แก่ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการก็ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน อุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน เครื่องจักรกลการเกษตร ก๊าซ การจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ ซอฟแวร์ อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลงจากองค์ประกอบด้านยอดขาย ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก เซรามิก หนังและผลิตภัณฑ์หนัง โรงเลื่อยและโรงอบไม้ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยอดคำสั่งซื้อและยอดขายของอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้เป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในและต่างประเทศ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก ผู้ผลิตไฟฟ้า และปิโตรเคมี

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาคปรับเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออกและภาคใต้ ในขณะที่ภาคอื่นๆปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม โดยภาคตะวันออก ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ผลิตเพื่อการส่งออก เช่น อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ปิโตรเคมี เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งพบว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ขยายตัวจากยอดจำหน่ายในต่างประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าก็มียอดขายในประเทศสูงขึ้นตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ภาคใต้ ดัชนีเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจในภาคใต้มีการปรับตัวดีขึ้นทั้งในภาคการผลิตและการใช้จ่าย ซึ่งมาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ อาหารทะเลแช่แข็ง และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ก็มียอดการส่งออกสูงขึ้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น ยางและผลิตภัณฑ์ยาง

ส่วนภาคกลางปรับตัวลดลงเนื่องจาก ยอดขายรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ซึ่งพบว่ายอดขายในอุตสาหรรมเฟอร์นิเจอร์ลดลง จากสินค้าประเภทชุดโซฟา และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้ก็มียอดขายในจีนและอเมริกาลดลง อุตสาหกรรมซอฟแวร์มียอดขายประเภทซอฟแวร์งานบุคคลลดลงจากสินค้าปลอมแปลงที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ เครื่องจักรกลการเกษตร และการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นก็ลดลงด้วยเช่นกัน ภาคเหนือ ปรับลดลงจากยอดขายรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมสำคัญในภาคเหนือ อาทิ หัตถอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง ซึ่งมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ ไม้แกะสลัก งานสาน ที่มียอดขายทั้งในและต่างประเทศลดลง อุตสาหกรรมก่อสร้างที่ขยายตัวเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ยอดขายในกลุ่มอุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อนปรับตัวลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าอุตสาหกรรมเซรามิก น้ำตาล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวลดลงจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมียอดขายลดลงนับจากช่วงเทศกาลปีใหม่ได้ผ่านไป ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มเสื้อกันหนาว นอกจากนี้ยังพบว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ สมุนไพร ก็มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นในกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศปรับตัวลดลงและกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยอุตสาหกรรมในกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ซึ่งมาจากความเชื่อมั่นด้านต้นทุนและผลประกอบการที่ลดลง อย่างไรก็ตามยอดขายและยอดคำสั่งซื้อของอุตสาหกรรมในกลุ่มเน้นตลาดในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนได้ว่าสถานการณ์การค้าในกลุ่มนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องนุ่งห่ม เหล็ก แกรนิตและหินอ่อน พลังงานทดแทน การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ การจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ ซอฟแวร์ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อและยอดขายปรับตัวสูงขึ้น คืออุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง มีการส่งออกยางแผ่นไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น เช่น ถุงมือยาง ยางรัดของก็มีการผลิตมากขึ้นเช่นกัน ยังพบว่าอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า เครื่องประดับ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง

สำหรับด้านสภาวะแวดล?อมในการดําเนินกิจการ พบว่าผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมัน สถานการณ์ทางการเมือง มากขึ้น ในขณะที่มีความกังวลในเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยลดลง ทั้งนี้เนื่องจากระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศทั้งเบนซินและดีเซลปรับขึ้นจากเดือนมกราคม ลิตรละ 1.10 บาท ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการในลักษณะที่แย่ลง ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นปัจจัยทางด้านลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะเสถียรภาพรัฐบาลยังคงสั่นคลอนจากคำตัดสินยึดทรัพย์อดีตนายกทักษิณกว่า 4.6 หมื่นล้าน ซึ่งก่อให้เกิดสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดยิ่งขึ้นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ให้ภาครัฐควบคุมสถานการณ์ทางเมืองไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น เพราะจะกระทบกับเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจว่ารัฐบาลจะสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมืองไว้ได้ ส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้น เร่งแก้ไขปัญหาโครงการมาบตาพุดอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนสนับสนุนการจัดหาแรงงานต่างด้าวและลดขั้นตอนในการจัดจ้างแรงงานต่างด้าว และให้คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลาง และควรเร่งลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อสำนักวิชาการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โทร. 0-2345-1112 โทรสาร 0-2345-1296-9

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version