นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นฯ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้การสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนเพื่อก่อตั้ง รพ.การแพทย์แผนไทยอย่างเต็มที่ เพราะปัจจุบันนี้แม้มี รพ.แผนปัจจุบันบางแห่งมีทางเลือกให้ประชาชนสามารถรักษาการแพทย์แผนไทยควบคู่กันไปได้ แต่องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลเหล่านี้ไม่ถึงร้อยละ 20 ดังนั้นการก่อตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยที่แยกออกมาเฉพาะ จะสามารถนำความรู้การแพทย์แผนไทยมาใช้ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งจะเป็นแหล่งสำคัญในการรวบรวม พัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้นี้อย่างเป็นระบบ หลังจากที่การแพทย์แผนไทยถูกทอดทิ้งไปอย่างยาวนานเมื่อมีการแพทย์ตะวันตกเข้ามา ซึ่งในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาการแพทย์ตะวันตกได้รับการพัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การแพทย์แผนไทยได้รับการพัฒนาไปอย่างช้าๆ ในอดีตยังเคยถูกสั่งห้ามไม่ให้ใช้การแพทย์แผนไทยมารักษาประชาชนด้วย และถูกทำให้เชื่อว่าการรักษาไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ ทำให้องค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านสูญหาย และถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก
ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในอดีตการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านเกิดขึ้นจากชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน ดังนั้นการตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยที่จังหวัดสกลนครในครั้งนี้ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นศักดิ์ศรีและความเป็นเอกลักษณ์ของการแพทย์แผนไทย ที่ก่อตั้งขึ้นจากความต้องการของชาวจังหวัดสกลนคร และสร้างโดยชาวจังหวัดสกลนครอย่างแท้จริง ซึ่งคณะกรรมการภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง ให้การสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะสอดคล้องกับทิศทางของระบบสุขภาพที่ระบุไว้ใน ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ข้อ 60 ที่ระบุให้มีโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยต้นแบบที่มีมาตรฐาน ในการบริการ การศึกษาวิจัย และการฝึกอบรมบุคลากร อย่างน้อยภาคละ 1 แห่ง นอกจากนี้ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดประชุมเมื่อวันที่ 16-18 ธันวาคม 2552 ได้ระบุให้มีการดำเนินการจัดทำแผนการจัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยต้นแบบอย่างน้อยภาคละ 1 แห่ง เช่นกัน
ด้านนายสิทธิรัตน์ รัตนวิจารณ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ภูมิใจที่จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดแรกที่ก่อตั้งรพ.การแพทย์แผนไทย และยิ่งภูมิใจมากขึ้นที่การก่อสร้างโรงพยาบาลนี้ขึ้นมาเป็นความร่วมแรงร่วมใจจากคนในจังหวัดสกลนคร ระดมทุนก่อสร้างกันเองโดยไม่ได้อาศัยงบประมาณจากส่วนกลางเลย
“การตั้งโรงพยาบาลครั้งนี้ได้รับสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างอาคารบริการผู้ป่วยจากหลวงปู่แฟบ สุภัทโท เจ้าอาวาสวัดป่าดงหวาย จำนวน 23 ล้านบาท และอบจ.ได้ช่วยสนับสนุนดูแลเรื่องการปรับพื้นที่ แขวงการทางจังหวัดสกลนครสนับสนุนการก่อสร้างถนนเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้างโรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ได้แก่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึงพ่อค้า ประชาชน และผู้นำชุมชนต่างๆ ได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือในลักษณะเป็นงานลงแขกกัน จังหวัดเราพร้อมทั้งองค์ความรู้ บุคลากร งบประมาณแม้มีไม่มากแต่เราใช้วิธีการลงขันกันคนละเล็กละน้อย นอกจากนี้ได้มีการจัดถวายผ้าป่าแก่หลวงปู่แฟบในวันวางศิลาฤกษ์ วันเสาร์ที่ 27 มีนาคมนี้ด้วย ส่วนกลไกการทำงานขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินงานโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนคร มีกรรมการดำเนินงานทั้งสิ้น 74 ท่าน มีรองอธิการบดีมหาวิทาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนครเป็นประธาน และมีที่ปรึกษาทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสประมาณ 50 ท่าน เพื่อดูแลให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างราบรื่นด้วย” นายสิทธิรัตน์กล่าว
อ.วิวัฒน์ ศรีวิชา หัวหน้าสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนครได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยบัณฑิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ปัจจุบันมีนักศึกษาเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 แล้ว แต่ขาดแคลนแหล่งฝึกงาน เราจึงจัดคาราวานสัญจรเพื่อให้บริการเพื่อรักษาพี่น้องประชาชนเดือนละ 2 ครั้ง ได้รับการตอบรับอย่างดีมาก เพราะเราต้องการให้นักศึกษาได้นำวิชาความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยจริงๆ สำหรับบุคลากรด้านแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านในจังหวัดสกลนครนอกจากนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในขณะนี้แล้ว นอกจากนี้ในคณะทรัพยากรธรรมชาติ ได้มีการศึกษาวิจัยองค์ความรู้ท้องถิ่นด้านสุขภาพ ตลอดจนการอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี อย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปีทำให้เรามีองค์ความรู้ด้านพืชสมุนไพรมากมาย จนบางอย่างสามารถผลิตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษาได้จริง และขณะนี้ก็กำลังมีการสำรวจภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตำรับ ตำราทั้งหมดในจังหวัดสกลนคร ดังนั้นการตั้ง รพ.การแพทย์แผนไทยนอกจากจะให้บริการสุขภาพด้วยระบบการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านแล้ว ยังจะเป็นศูนย์กลางของการวิจัย การบริการวิชาการ และการฝึกอบรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน สนับสนุนให้การเรียนการสอนแก่นักศึกษาเป็นไปอย่างครบวงจร ส่งเสริมการผลิตและการใช้ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และเพื่ออนุรักษ์ สืบทอด และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพที่เคยถูกละเลยให้ฟื้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชั้น 2 อาคาร 88/37 ติวานนท์ 14
ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี โทรศัพท์ 02-590-2307 , 02-590-2313
โทรสาร 02-590-2311 www.nationalhealth.or.th
ติดตามรับชมสถานีวิทยุและโทรทัศน์สุขภาพแห่งชาติ www.healthstation.in.th