การเข้าซื้อกิจการจะมีผลให้สินทรัพย์รวมของ TBANK เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9% ของสินทรัพย์รวมในระบบ และเพิ่มความสำคัญของ TBANK ต่อระบบการเงินโดยจะมีสถานะเป็นกลุ่มธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของประเทศไทย การเข้าซื้อกิจการน่าจะเป็นผลบวกต่อฐานะเงินกองทุนและความสมารถในการระดมทุนของ TBANK รวมถึงสามารถเพิ่มผลการดำเนินงานของกลุ่มในระยะปานกลาง จากการที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดและเครือข่ายที่แข็งแกร่งขึ้น
กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับ TBANK ในเดือนมีนาคม 2553 เพื่อขายหุ้นสัดส่วน 47.58% ที่ถืออยู่ใน SCIB ให้กับ TBANK ที่ราคา 32.50 บาทต่อหุ้น และ TBANK จะทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของ SCIB ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ต้นทุนทั้งหมดในการเข้าซื้อกิจการคาดว่าไม่เกิน 68.7 พันล้านบาท ซึ่งจะทำการชำระโดย TBANK โดยแหล่งเงินทุนจะรวมถึง การออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 35.8 พันล้านโดย TBANK ซึ่งผู้ถือหุ้นหลัก (TCAP และ Bank of Nova Scotia (BNS)) จะเป็นผู้ซื้อ การออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ไม่สะสมดอกเบี้ยจ่ายที่นับเป็ฯกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1) จำนวน 7.1 พันล้านบาท และตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่นับเป็ฯกองทุนชั้นที่ 2 จำนวน 6.0 พันล้านบาทโดย TBANK (TCAP และ BNS จะเป็นผู้ซื้อตราสารHybrid Tier 1) และจากสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องจำนวน 19.7 พันล้านบาท(ส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้) ที่ TBANK จะนำออกจำหน่าย
TBANK รายงานผลกำไรสุทธิที่ 4.1 พันล้านบาทในปี 2552 เพิ่มขึ้น 115% จากปีก่อนหน้า และมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ 1.1% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น การตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง และอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 3.98% ในปี 2552 (3.52% ในปี 2551) สินเชื่อรถยนต์ยังคงเป็นธุรกิจหลักของธนาคาร มีสัดส่วนเป็น 74% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2552 ในขณะเดียวกันคุณภาพของสินทรัพย์ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเนื่องจากเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งกว่าธนาคารคู่แข่ง โดย TBANK มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายต่อสินเชื่อรวมที่ประมาณ 3% ขณะที่อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ 100% ณ สิ้นปี 2552 (89.8% ณ สิ้นปี 2551) และเงินทุนยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 8.65%
TCAP รายงานผลกำไรสุทธิในปี 2552 จำนวน 3.5 พันล้านบาทตามงบการเงินเฉพาะกิจการ และ 7.2 พันล้านบาทตามแบบงบรวม โดยมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ 1.7% ส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก โดยมีจำนวน 28.5 พันล้านบาท หรือ 62% ของสินทรัพย์ตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ สิ้นปี 2552 อัตราส่วนหนี้สินของ TCAP แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นแต่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับปานกลาง ด้วยสถานะบริษัทโฮลดิ้ง TCAP ต้องพึ่งพารายได้จากการจ่ายเงินปันผลของ TBANK อย่างไรก็ตามบริษัทน่าจะได้รับผลประโยชน์จากขนาดของบริษัทลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหลังการควบรวม
ในปี 2552 กำไรสุทธิของ SCIB อยู่ที่ระดับ 4.2 พันล้านบาท และมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ 1.0% ในส่วนของอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.3% ในปี 2552 (3.4% ในปี 2551) เนื่องจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่ในระดับที่ต่ำ คุณภาพของสินทรัพย์ของ SCIB ปรับตัวลดลงใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในอดีตธนาคารได้ใช้กลยุทธ์การปล่อยกู้ในเชิงรุกท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตามคุณภาพสินทรัพย์ของ SCIB ดูเหมือนอยู่ในระดับคงที่ในปี 2552 โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 25.9 พันล้าน ณ สิ้นปี 2552 (เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า) SCIB คาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายจะลดลงในปี 2553 เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ แม้ว่ายังคงมีความเสี่ยงเนื่องจากสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษของธนาคารอยู่ในระดับสูง (8.6% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2552) ระดับเงินกองทุนของ SCIB ค่อนข้างแข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 10.4% ณ สิ้นปี 2552
ปัจจุบัน TBANK เป็นบริษัทหลักในการดำเนินงานของกลุ่มธนชาต โดยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินอื่นทั้งในด้านธุรกิจหลักทรัพย์ การจัดการกองทุน และการประกันภัย ในขณะที่ BNS เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับสามของประเทศแคนาดา โดยมีสินทรัพย์กว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมีธุรกิจหลักด้านการธนาคารในประเทศแคนาดาและต่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจด้านตลาดทุนและวาณิชธนกิจทั่วโลก
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยได้เข้าถือหุ้นใหญ่ใน SCIB หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 และในปี 2545 SCIB ได้ควบรวมกับธนาคารศรีนคร SCIB เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านสินเชื่อ 4% และด้านเงินฝาก 5% ธนาคารยังมีบริษัทในเครือซึ่งดำเนินธุรกิจประกัน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุน และธุรกิจเช่าซื้อ
ฟิทช์ได้ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก (Rating Watch Positive — RWP) แก่อันดับเครดิตต่อไปนี้
บริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน)
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ที่ ‘A-(tha)’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ที่ ‘F2(tha)’
อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘5’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ที่ ‘A-(tha)’
ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ที่ ‘A(tha)’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ที่ ‘F1(tha)’
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารที่ ‘C/D’
อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘4’
ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)
อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BB’
อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘B’
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารที่ ‘D’;
อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘4’
อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘B+’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ที่ ‘A-(tha)’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ที่ ‘F1(tha)’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของตราสารหนี้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ที่ ‘BBB+(tha)’
หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ นี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Global Financial Institution Criteria ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 Bank Holding Companies ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2552 และ National Ratings-Methodology Update ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549
ติดต่อ
นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์, กรุงเทพฯ +662 655 4763
พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4761
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ ‘AAA’ และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น ‘AAA(tha)’ ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com
การใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยฟิทช์เรทติ้งส์มีข้อจำกัดและขอบเขตการใช้ ซึ่งข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวสามารถหาได้จาก HTTP://FITCHRATINGS.COM/UNDERSTANDINGCREDITRATINGS นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน