สำนักงาน ก.พ. ผลักดันทุกส่วนราชการเร่งประเมินผลงาน

จันทร์ ๒๙ มีนาคม ๒๐๑๐ ๐๙:๓๒
เลขาธิการ ก.พ. เชื่อมั่นระบบการประเมินผล งานและการเลื่อนเงินเดือน ขรก.ระบบใหม่ที่ยึดหลัก การจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน จะสร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชการ ชี้ระบบใหม่เป็นระบบที่ ใครมีผลงานที่ดีต้องได้รับค่าตอบแทนที่ดี

นางเบญจวรรณ สร่างนิทร เลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พลเรือน พ.ศ. 2551 เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการจากบัญชีอัตราเงินเดือนแบบ “ขั้น” ไปเป็นบัญชีอัตราเงินเดือนแบบ “ช่วง” เพื่อให้โครงสร้างเงินเดือนข้าราชการในอนาคตมีความยืดหยุ่น ดังนั้น การเลื่อนเงินเดือนข้าราชการจึงเปลี่ยนจากระบบเดิมที่เป็นการเลื่อนแบบ “ขั้น” เป็นการเลื่อนแบบ “ร้อยละ” โดยยึดหลักการจ่ายค่าตอบแทนตามค่างาน และผลงาน บทบาทของผู้บังคับบัญชาในการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการระบบใหม่จะมีมากขึ้นกว่าเดิมในฐานะผู้รับผิดชอบงานและขับเคลื่อนการทำงานของส่วนราชการ

อย่างไรก็ดี ผลการเลื่อนเงินเดือนจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับต้นทาง คือ ระบบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ซึ่งต้องสามารถวัดผลการปฏิบัติงานของข้าราชการได้อย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้เปอร์เซ็นต์เลื่อนเงินเดือนตรงกับผลการปฏิบัติงานที่แท้จริง

สำนักงาน ก.พ. จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการใหม่ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของส่วนราชการและจังหวัด เช่น การกำหนดองค์ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างน้อย 2 องค์ประกอบ คือ ผลสัมฤทธิ์ของงาน และ พฤติกรรมการปฏิบัติราชการ ซึ่งส่วนราชการสามารถกำหนดมากกว่า 2 องค์ประกอบก็ได้ แต่ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์ของงานจะต้องมีสัดส่วนคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 จากคะแนนเต็ม 100 การกำหนดระดับผลการประเมินอย่างน้อย 5 ระดับ ซึ่งส่วนราชการสามารถกำหนดได้มากกว่านี้ก็ได้ เป็นต้น ดังนั้น จากกรอบมาตรฐานที่เปิดแนวทางให้มีความยืดหยุ่น ส่วนราชการสามารถกำหนดวิธีการประเมิน สัดส่วนการประเมิน ระดับคะแนนการประเมิน ฯลฯ ที่แตกต่างไปได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสม

สำหรับกระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราชการจะเริ่มต้นตั้งแต่ต้นรอบการประเมิน (กำหนดให้ประเมินปีละ 2 รอบ คือ รอบแรก 1 ต.ค. — 31 มี.ค. และรอบสอง 1 เม.ย. — 30 ก.ย.) ผู้บังคับบัญชาและข้าราชการจะต้องเริ่มต้นด้วยกัน ตั้งแต่การมอบหมายงาน ตกลงการทำงานร่วมกันโดยมีตัวชี้วัดและเป้าหมายงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสร้างผลสัมฤทธิ์ของงานร่วมกัน และเมื่อถึงปลายรอบการประเมินก็จะประเมินผลงานจริงเทียบกับข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ตอนต้นรอบการประเมิน ซึ่งผลงาน จะมองทั้งในเชิงปริมาณว่าทำได้มาก ได้น้อย เพียงใด คุณภาพของผลงานเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ มีความฉับไวในการทำงาน ลดขั้นตอนการทำงาน หรือมีความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรอย่างไร

สำหรับพฤติกรรมการทำงาน จะประเมินจากสมรรถนะ เช่น มีความตั้งใจและพยายามทำงานให้ดีทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ถูกต้อง ให้บริการด้วยไมตรีจิตเกินความคาดหวังของประชาชนผู้รับบริการ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นต้น

ตามแนวทางการประเมินใหม่ดังกล่าวข้างต้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อข้าราชการและหน่วยงาน เพราะแต่ละบุคคลจะเห็นภาพที่ชัดเจนว่า การทำงานของตนส่งผลต่อความสำเร็จของส่วนราชการอย่างไร ผลงานของตนมีผลกระทบต่อเป้าหมายรวมขององค์กรอย่างไร รวมทั้งการได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกับความทุ่มเทในการทำงานจนเกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้น ทั้งการประเมินก็ยังสามารถลดวิจารณญาณส่วนตัวของผู้ประเมิน หรือลดความเอนเอียงในการประเมิน เพราะข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกันระหว่างผู้ถูกประเมินและผู้ประเมินว่าจะประเมินผลงานอย่างไร ได้รับการตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้นรอบการประเมิน นอกจากนี้ การหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางขจัดจุดอ่อนหรืออุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ และการติดตามผลงานของผู้ประเมินอย่างเป็นระบบ ล้วนเป็นบทบาทที่หากผู้บังคับบัญชา/ผู้ประเมินได้ดำเนินการอย่างมุ่งมั่นแล้ว ย่อมส่งผลต่อผลงานที่สมบูรณ์โดยรวมของหน่วยงานนั้นๆ

สำหรับ ระบบการเลื่อนเงินเดือนใหม่กำหนดให้เลื่อนเงินเดือนตามวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร คือ ร้อยละ 3 ของเงินเดือนข้าราชการในแต่ละส่วนราชการ ซึ่งผู้บังคับบัญชาสามารถบริหารจัดการงบประมาณเพื่อเลื่อนเงินเดือนตามผลงานของข้าราชการได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงโควตาจำนวนคน “ดีเด่น” ร้อยละ 15 แบบเดิม

นอกจากนี้ ผู้ที่มีผลงานดีเด่นจะมีโอกาสได้เลื่อนเงินเดือนเป็นร้อยละที่มากกว่าระบบเดิม โดยเลื่อนได้สูงสุดร้อยละ 6 ต่อรอบการประเมิน (ระบบเดิมเลื่อนได้สูงสุด 1 ขั้น ประมาณร้อยละ 4 ต่อรอบการประเมิน) สำหรับผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ที่ลดหลั่นกันลงมา ก็จะได้เลื่อนเงินเดือนเป็นอัตราร้อยละที่ถัดลงมาเช่นกัน และหากผู้มีผลงานดีเด่นได้เลื่อนเงินเดือนในอัตราที่สูงแล้วผู้ที่มีผลงานน้อยกว่าก็จะได้เลื่อนเงินเดือนในอัตราที่น้อยลง ซึ่งจะมากน้อยเท่าใดก็เป็นสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องบริหารจัดการให้เหมาะสมกับวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร

ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การทำงานของข้าราชการจะพัฒนาในแนวทางที่ดีมากขึ้น เพราะมุ่งเน้นที่ผลสำเร็จของการปฏิบัติงาน ผู้ที่ทำงานและมีผลงานดี จะได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งช่วยสร้างขวัญ สร้างกำลังใจ และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จ ลุล่วง เกิดผลงานที่ดี ส่งผลถึงประชาชนจะได้รับการปฏิบัติและการบริการที่ดีจากหน่วยงานของรัฐ ก่อให้เกิดผลสำเร็จทั้งภาครัฐ และประชาชน อันนำมาซึ่งการพัฒนาในภาพรวมของประเทศ นางเบญจวรรณ กล่าวในที่สุด

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

คุณจุฑารัตน์ ถือซื่อ (เล็ก)

E-mail: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO