ร่วมต้อนรับ นักวิทยาศาสตร์สตรีไทยคนแรก กลับจากขั้วโลกใต้ สู่ไทย พร้อมทั้งเผยประสบการณ์การสำรวจทวีปแอนตาร์กติก

พฤหัส ๐๑ เมษายน ๒๐๑๐ ๑๒:๒๐
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย และ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้สนับสนุน จัดงานแถลงข่าวต้อนรับการกลับสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ผศ. ดร. สุชนา ชวนิชย์ นักวิทยาศาสตร์สตรีไทยคนแรก จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับคัดเลือกจากสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น (NIPR: National Institute of Polar Research Japan) ให้ร่วมเดินทางไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติกกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกญี่ปุ่น คณะที่ 51 (JARE-51: Japanese Antarctic Research Expedition) ณ สถานีวิจัยโชว์วะ (Syowa Station) ของประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ผศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ ยังเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นที่ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ประจำปี 2551 ด้วย โดยงานแถลงข่าวดังกล่าวได้จัดขึ้น ณ ห้องแปซิฟิค บอลรูม โรงแรม แพน แปซิฟิค

มร. ฌอง ฟรองซัวส์ คูเว่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้สนับสนุนการเดินทางในครั้งนี้ เปิดเผยว่า “ลอรีอัล ยินดีเป็นอย่างมาก ที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการเดินทางครั้งนี้ของ ผศ.ดร. สุชนา ด้วยหลายเหตุผลด้วยกัน 1) การที่ได้มีนักวิจัยสตรีไทยคนแรกร่วมเดินทางไปทำงานวิจัยที่แอนตาร์กติกด้วยนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างมากสำหรับประเทศไทย 2) การเดินทางครั้งนี้ได้กระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งนับเป็นหนึ่งในเจตนารมย์ของโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ และ 3) การเดินทางครั้งนี้ยังทำให้คนไทยหันมามองเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ลอรีอัลทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก เราได้มุ่งมั่นลดการใช้พลังงานและน้ำ ลดปริมาณการปล่อยของเสียและก๊าซออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลาสติก นอกจากนั้นเรายังมุ่งมั่นที่จะหาและเลือกใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาวิธีการทำงานวิจัยให้เป็น Green Chemistry คือ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือเลือกใช้กระดาษที่มาจากโครงการปลูกป่าทดแทน สำหรับที่ประเทศไทยนั้น เราได้ให้คลังสินค้าของเราหันมาใช้แสงจากธรรมชาติมากขึ้น ทำให้เราสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ถึงร้อยละ 50 ต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตร รวมทั้งผลักดันให้แบรนด์ของเรานำเสนอผลิตภัณฑ์หรือจัดกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ พัฒนาผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากแสงแดดของ ลา โรช-โพเซย์ (La Roche Posay) ให้มีตัวกรองแสงที่เป็นสารเคมี (chemical filters) น้อยลง โดยงดใช้น้ำหอมและสารกันเสีย หรือกระเป๋าผ้าของคีลส์ (Kiehl’s) ที่ผลิตจากขวดพลาสติก เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของลอรีอัล ทั่วโลก”

ศ.ดร. สุพจน์ หารหนองบัว คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ในฐานะต้นสังกัด เรามีความยินดีกับการเดินทางกลับมาของ ผศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ ผู้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการร่วมศึกษากับทีมนักวิจัยระดับนานาประเทศ ตลอดระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ที่ผ่านมา ผศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถและความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการปฏิบัติงานวิจัยโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างหนัก และการนำประสบการณ์พิเศษที่ได้รับมาเผยแพร่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ รวมถึงช่วยสร้างความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลกมากยิ่งขึ้น โดยเป้าหมายของคณะวิทยาศาสตร์ คือ การร่วมพัฒนาและสนับสนุนบุคคลากรในสายงานวิทยาศาสตร์ของไทยให้มีโอกาสก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานค้นคว้าวิจัยระดับนานาชาติ และนำประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับมาต่อประยุกต์ใช้กับงานวิจัยที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ผศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ นักวิทยาศาสตร์สตรีไทยคนแรกที่ได้เดินทางไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติก เปิดเผยถึงความรู้สึกจากการเดินทางไปสำรวจตลอดระยะเวลา 4 เดือนทีผ่านมาว่า “รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากที่ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตร่วมกับคณะทีมสำรวจระดับนานาชาติในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกภาคฤดูร้อน (summer training) ณ ประเทศญี่ปุ่นก่อนการเดินทาง หรือแม้กระทั่ง การเดินทางร่วมกับคณะสำรวจฯ ด้วยเรือตัดน้ำแข็ง AGB Shirase II เพื่อเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการ ณ สถานีวิจัยโชว์วะ ของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะการสำรวจครั้งที่ 51 นี้ นับเป็นการปฏิบัติงานที่ค่อนข้างยากลำบากมากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างมากจากพายุหิมะ (blizzard) หลายครั้งพัดผ่านตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงช่วงฤดูร้อนที่คณะสำรวจฯ ได้เดินทางเข้ามาถึง ส่งผลให้การปฏิบัติงานหลายอย่างต้องล่าช้าหรือหยุดชะงัก ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานทั้งหมดที่กำหนด ซึ่งพายุหิมะที่เกิดขึ้นในระดับที่รุนแรงที่สุดของช่วงฤดูร้อนของปีนี้ มีความเร็วลมสูงกว่า 35 เมตรต่อวินาที ทัศนวิสัยต่ำกว่า 50 เมตร ซึ่งนับว่ารุนแรงกว่าช่วงฤดูร้อนปกติเป็นอย่างมาก หากเปรียบเทียบการเดินทางผ่านทะเลน้ำแข็งในฤดูร้อนปี 2003/2004 ซึ่งมีความหนาของผิวทะเลน้ำแข็งไม่ถึงเมตร หรือฤดูร้อนปีต่อมาจนถึงปี 2008/2009 ที่มีความหนาปกติ กระทั่งฤดูร้อนปี 2009/2010 ครั้งนี้ ที่หนาถึง 4.5 เมตร ซึ่งหนากว่าทะเลน้ำแข็งปกติที่หนาประมาณ 1-3 เมตร และมีความแปรปรวนของสภาพอากาศสูง ดังนั้น การตรวจติดตามและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศระยะยาว ทั้งที่เปลี่ยนแปลงในสภาพที่หนาวหรือร้อนขึ้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการตอบคำถามที่เราให้ความสนใจในปัจจุบัน (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change) ทั้งนี้ รวมถึงการศึกษาผลกระทบอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับสิ่งมีชีวิต จึงเป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม คณะสำรวจฯ ก็ได้มีโอกาสบันทึกปรากฎการณ์ดีๆ ที่หาดูได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นแสงจากดวงจันทร์ที่สุกสกาวเต็มดวงในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ซึ่งโดยปกติแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่างตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงฤดูร้อนทำให้มองเห็นดวงจันทร์ยามค่ำคืนได้ยาก แตกต่างจากฤดูหนาวที่ดวงจันทร์สามารถปรากฎให้เห็นเป็นสง่าอยู่เหนือศีรษะ นอกจากนั้น ยังสังเกตเห็นแสงออโรร่า (Aurora) หลายครั้ง เมื่ออยู่บนเรือขณะเดินทางกลับ แสง ออโรร่าเกิดจากการที่อนุภาคที่มีประจุวิ่งเข้ามากระทบกับอนุภาคต่างๆ บนชั้นบรรยากาศ เช่น ออกซิเจน ทำให้เกิดเป็นสีสันต่างๆ ซึ่งไม่ได้ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งนัก

นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสร่วมเดินทางออกนอกสถานีวิจัยโชว์วะเข้าสู่บริเวณชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกร่วมกับคณะสำรวจชุดต่างๆ หลายครั้ง โดยได้ออกสำรวจร่วมกับชุดสำรวจชีววิทยาและสมุทรศาสตร์ เพื่อเก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลจากใต้ทะเลน้ำแข็ง (sea ice) เก็บตัวอย่างชั้นน้ำแข็ง (ice core) และเก็บตะกอนดินจากทะเลสาบต่างๆ หลายแห่ง เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และนำไปสกัดหาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีชีวภาพ การออกสำรวจร่วมกับชุดสำรวจธรณีวิทยา เพื่อสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน (แผ่นดินไหว) และอุปกรณ์ตรวจวัดการเคลื่อนตัวของแผ่นน้ำแข็ง จากการศึกษาที่ผ่านมายังพบว่าแผ่นน้ำแข็งบริเวณชายฝั่งดังกล่าวมีการเคลื่อนตัวประมาณ 5 เมตรต่อปี ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการเคลื่อนตัวโดยเฉลี่ยของเปลือกโลกบริเวณทวีปแอนตาร์กติกที่มีค่าประมาณ 1 เซนติเมตรต่อปี

สำหรับงานสำรวจอีกงานหนึ่งที่สำคัญ ได้แก่ การสำรวจอุกกาบาต ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศแนวหน้าที่มีการสำรวจและค้นพบหินอุกกาบาตบนทวีปแอนตาร์กติกเป็นจำนวนสูงสุดของโลก และในปีนี้ได้สำรวจพบอุกกาบาตจำนวนทั้งสิ้น 635 ชิ้น ซึ่งชิ้นที่ใหญ่ที่สุดมีน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม อุกกาบาตเป็นชิ้นส่วนของหินแร่จากอวกาศที่ตกลงสู่พื้นโลก อุกกาบาตเหล่านี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ ได้ทราบถึงการกำเนิดและความเป็นมาของระบบสุริยะ รวมถึงโลกของเราต่อไป

ทั้งนี้ ประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้จากการเดินทางไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติกในครั้งนี้ อยากจะนำมาถ่ายทอดให้คนไทยรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ไทยได้เข้าใจถึงธรรมชาติและความสำคัญของทวีปแอนตาร์กติกที่มีต่อโลกและมนุษยชาติ นอกจากนั้น ตัวอย่างหรือสิ่งต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จะนำไปวิเคราะห์เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมต่อไป” ผศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ กล่าวสรุปท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด

คุณพรรวี สุรมูล และคุณกมลรัตน์ ปลอดภัย

บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์

โทรศัพท์ 02 627-3501 ต่อ 110 หรือ 109

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณเร ประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 02-218-5013

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version