แนะทบทวนไทยเข้มแข็งช่วยฟื้นเศรษฐกิจระยะยาว

พฤหัส ๐๑ เมษายน ๒๐๑๐ ๑๔:๓๘
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมการชุมนุมทางการเมืองที่อยู่ในกรอบไม่มีความรุนแรงจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เห็นได้จากลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่นักลงทุนยังซื้อต่อเนื่องและดัชนีเศรษฐกิจอื่น ๆ แต่ยังไม่อาจวางใจได้ 100% ยังคงต้องระมัดระวัง เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังขึ้นกับเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแบบ V-shape เกิดขึ้นในบางภาคการผลิตเท่านั้น เช่น สาขายานยนต์ และสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเคยดิ่งลงในช่วงวิกฤติมีการปรับตัวขึ้นแรงเช่นกัน โดยได้ประโยชน์จากจีนและประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ทำให้ประเทศเล็ก ๆ แถบเอเชียรวมทั้งไทยได้รับประโยชน์ไปด้วย เช่นยอดส่งออกไปจีนสูงมาก บางเดือนขยายตัวมากถึง 80%

อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวในภาพรวมอาจเริ่มสัญญาณแผ่วขึ้น เพราะจีนเริ่มลดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอย่างชัดเจน ดังนั้นในระยะ 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะต่อเนื่องหรือไม่ ขึ้นกับว่าเศรษฐกิจหลักเดิมของโลก (สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ป่น) จะแข็งแรงขึ้นทันการแผ่วตัวของจีนหรือไม่ หากทันก็ไม่มีปัญหา แต่หากทิ้งช่วงก็อาจทำให้การฟื้นตัวของไทยเองสะดุดได้บ้าง

ดร.สมชัย กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่สำคัญคือความเร็วและความชัดเจนของการแก้ปัญหามาบตาพุด ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศแถบยุโรป และปัญหาการเมืองที่ยังไม่สงบชัดเจนและอาจปะทุขึ้นใหม่ได้

ดร.สมชัย กล่าวว่า การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปในแนวทางที่ดี และรัฐยังคงกระตุ้นต่อเนื่องในบางมาตรการ แต่สิ่งที่น่าสนใจในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวะที่ 2 (Stimulus Package 2 : SP2) คือ โครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งขยายระยะเวลาสิ้นสุดออกไปอีก 1 ปี ยังคงมีปัญหาในลักษณะเบี้ยหัวแตกทางความคิด และดำเนินการได้ล่าช้ากว่าที่คิด เสนอให้รัฐบาลนำโครงการไทยเข้มแข็งมาทบทวนดูแบบองค์รวมอีกครั้ง ควรทำการระดมความคิดเพื่อคัดกรองให้ชัดเจนว่าควรบรรจุโครงการใดอยู่ในโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อให้เป็นลงทุนระยะยาวและเกิดประโยชน์ในการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งตอนนี้มีเวลาทำได้ เพราะความจำเป็นเร่งด่วนในการอัดฉีดเม็ดเงินลดลงจากปีที่แล้วมาก

ส่วนปัญหาหนี้สาธารณะนั้น รัฐบาลควรมีกลยุทธ์ในการถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Exit strategy) ที่ดี เป็นเรื่องจำเป็น เพราะนอกจากเป็นการดูแลภาระทางการคลังในอนาคตแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณสร้างความมั่นใจให้ตลาดการเงิน เพราะหากตลาดไม่ไว้ใจก็จะส่งสัญญาณขอดอกเบี้ยแพง ซึ่งจะไปซ้ำเติมภาระทางการคลัง หลายประเทศที่มีปัญหาหนี้สูงอย่างกรีซ สเปน ก็มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาแล้ว จึงควรระวังเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามอัตราหนี้สาธารณะไม่มีสูตรสำเร็จว่าแค่ไหนจึงสูงเกิน โดยทั่วไปประเทศที่มีอัตราการออมสูงมักจะรองรับอัตราหนี้สาธารณะที่สูงได้มากกว่าประเทศที่ออมต่ำ เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะเกือบ 200% ของ GDP แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการออมสูงมาก คนจึงรู้สึกว่าไม่มีปัญหา เพราะถ้ารัฐบาลมีปัญหาจริง ๆ ก็สามารถเก็บภาษีจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้นได้ แต่สำหรับประเทศไทยแม้จะมีการออมสูงเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีได้ง่ายและทันการณ์ เนื่องจากต้องไปเก็บจากคนที่มีรายได้สูงนั่นคือคนกลุ่ม 20%บนของประเทศ ที่มีสัดส่วนการออมคิดเป็นร้อยละ 80 ของการออมทั้งประเทศ การเก็บภาษีจากคนกลุ่มนี้มักได้รับการต่อต้านทางการเมืองและผลักดันยาก

กลยุทธ์ในการถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ควรเป็นการถอนทันทีแต่ควรกำหนดจังหวะเวลาการถอนให้ขึ้นกับเงื่อนไขการฟื้นตัวที่ชัดเจน เรียกว่า conditional exit strategy ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ทำอย่างชัดเจน แต่ก็มีการพูดถึงว่าจะลดการใช้เงินกู้ลง หันมาใช้รายได้ภาษีที่เริ่มจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายแทน ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ exit strategy ได้เช่นกัน

ดร.สมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจของไทยในตลาดโลก เชื่อมั่นว่านักธุรกิจไทยมีความสามารถในการปรับตัวสู้ได้ ประสบการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง พิสูจน์ให้เห็นในการขยายตัวด้านการส่งออก แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นผลจากค่าเงินที่ลดลงมากในช่วงนั้น แต่ในช่วง 4-5 ปีหลังนี้ซึ่งได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทน้อยลง (ค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่องมาหลายปี) แต่ยังคงส่งออกได้ดี แสดงว่านักธุรกิจของไทยปรับตัวสู้กับเวทีโลกได้พอสมควร การปรับตัวต้องทำอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในอนาคตควรต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้ลดการใช้แรงงานเข้มแข้นในแบบเดิม ๆ ลง เพิ่มการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและบริการ เช่น ด้านไอทีมาใช้กับธุรกิจมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งจะทำให้คล่องตัวในการบริหารและเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจไทยในระยะยาว

ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรให้ความสำคัญและเข้ามาเป็นแกนนำในการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development : R&D) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันของธุรกิจไทยในระยะยาว ปัจจุบันไทยยังทำเรื่องนี้น้อยมาก มีบางบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นที่เริ่มเข้ามาทำ แต่ก็ยังน้อยเกินไป รัฐบาลควรเป็นผู้ริเริ่ม ลงทุน และกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาอย่างแพร่หลายและกระจายผลประโยชน์ลงไปถึงธุรกิจขนาดเล็กด้วย ก็จะช่วยให้ธุรกิจไทยแข่งขันไปตลาดโลกได้ดีขึ้น และจะทำให้ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง เช่น สามารถขยับตัวไปแข่งขันกับมาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ได้อีกครั้งหนึ่ง แทนที่ต้องถอยหลังไปแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพน้อยกว่าในอดีต เช่น เวียดนาม เขมร.

เผยแพร่โดยทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ

โทร.0-2270-1350 ต่อ 113 ติดต่อคุณศศิธร

e-mail : [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ