ด้านนางกรรณิการ์ บันเทิงกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพ เป็นเวทีเชื่อมระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นการสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดยมีฝ่ายวิชาการคอยให้ความรู้ มีการจัดการเครือข่ายอย่างเป็นระบบ มีการดำเนินการโดย นักจัดการเครือข่าย นักวิชาการ นักยุทธศาสตร์ นักสื่อสารทางสังคม นักประสานงาน ร่วมกันทำงาน และไม่ตีกรอบหรือชี้นำความคิดแต่จะอาศัยการระดมความคิดเพื่อการขับเคลื่อน โดยใช้กลไก รูปแบบ และกระบวนการที่ชัดเจน และการศึกษาจะต้องไม่ขีดวงจำกัดแค่ ครู นักเรียน นักศึกษาในระบบ ก็จะสามารถสร้างเครือข่ายโดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมได้
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ คณบดีคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาบริหารการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของสมัชชาการศึกษา คือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการศึกษา และการนำนโยบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ โดยขณะนี้ได้ดำเนินการโครงการนำร่องจัดสมัชชาการศึกษาใน ๘ กลุ่มจังหวัดภายใต้งบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยได้นำร่องไปแล้ว ๒ จังหวัด คือ จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดอุบลราชธานี และได้รับการตอบรับดีมาก จึงอยากให้ สกศ.เป็นเจ้าภาพ ติดตาม กำกับ และตั้งคณะกรรมการบริหารสมัชชาในทุกจังหวัด และสนับสนุนงบประมาณในการจัดสมัชชาส่วนหนึ่งด้วย