นายสุพจน์ มหพันธ์ ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจบริการระหว่างประเทศ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มทรูดำเนินธุรกิจสื่อสารระหว่างประเทศ โดยเน้นจุดเด่นเรื่องคุณภาพตามมาตรฐานสากลและราคาสมเหตุสมผล อาทิ บริการโทรทางไกลต่างประเทศ รหัส 006 จากทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น, บริการโรมมิ่งโทรศัพท์ข้ามแดนระหว่างประเทศ จากทรูมูฟ และบริการเกตเวย์ระหว่างประเทศ จากทรู อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ โดยมีรายได้จากธุรกิจระหว่างประเทศ ประมาณ 2,900 ล้านบาท และปีนี้ วางแผนขยายธุรกิจเกตเวย์ให้ครอบคลุมต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของการใช้ บรอดแบนด์ และการใช้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายสื่อสารข้อมูลระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาค ซึ่งนอกเหนือจากการขยายศักยภาพบริการที่มีคุณภาพของบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ เพิ่มความหลากหลายของบริการเชื่อมต่อโครงข่ายสื่อสารข้อมูลระหว่างประเทศแล้ว ล่าสุดยังได้เปลี่ยนชื่อบริษัท เพื่อสะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจให้ครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นบริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ โดยตั้งเป้าที่จะทำรายได้รวมของบริษัทเพิ่มอีก 20% จากปีที่ผ่านมา โดยจะเพิ่มรายได้จากบริการเชื่อมต่อโครงข่ายสื่อสารข้อมูลระหว่างประเทศได้ถึง 100 %และจากบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตต่างประเทศอีก 50%
ดร. อโณทัย รัตนกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ จำกัด กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเกตเวย์ของกลุ่มทรูมีรายได้โดยรวมเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าปี 2551 ประมาณ 15% คิดเป็น 850 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงรายได้จากการให้บริการนอกกลุ่มทรูที่เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 220% คิดเป็น 180 ล้านบาท โดยมากกว่าครึ่งของรายได้นอกกลุ่ม มาจากบริการเชื่อมต่อโครงข่ายสื่อสารข้อมูลระหว่างประเทศ หรือดาต้าเกตเวย์ที่เปิดให้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายข้อมูลไปยังต่างประเทศ ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงที่กลุ่มลูกค้าองค์กรเริ่มหาทางเลือกอื่นๆในการใช้งานดาต้าระหว่างประเทศ นอกเหนือ จากทางเลือกเดิมที่มีค่าบริการค่อนข้างสูง ดังนั้น ในปี 2553 นี้ บริษัท ฯ จะเน้นขยายตลาดการให้บริการดาต้าเกตเวย์ เพื่อรองรับความต้องการใช้งานเชื่อมต่อโครงข่ายข้อมูลของกลุ่มธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ จำกัด เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การตลาดที่จะเพิ่มการรับรู้เรื่องบริการเกตเวย์ครบวงจรของบริษัทแก่ลูกค้าเป้าหมายทั้งใน และต่างประเทศ นอกเหนือ จากการเดินสายแสดงศักยภาพและความเป็นผู้ให้บริการเทียบชั้นมาตรฐานสากลในงานแสดงธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมระดับโลกโดย เน้นจุดเด่นเรื่องคุณภาพ การให้บริการและราคาที่สมเหตุสมผล
สำหรับตลาดอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ในประเทศไทย เนื่องจากการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการเกตเวย์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนราคาแบนด์วิธลดลง ทำให้ปริมาณการใช้แบนด์วิธในประเทศไทยแบบเชื่อมต่อตรงกับต่างประเทศโดยรวมเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 60 % จาก 60 Gbps ปี 2552 เป็น 90 Gbps ในปี 2553 โดยสัดส่วนปริมาณการใช้แบนด์วิธของ ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ จะเป็นอย่างต่ำ 20 Gbps ในสิ้นปี หรือประมาณ 17 % ของตลาดโดยรวม โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของการเชื่อมต่อให้มากขึ้นบนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ลงทุนมาแล้ว ทั้งการติดตั้ง Point of Presence (POP) และขยายชุมสายในประเทศ