การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.๙๙๕ และ เรือ ต.๙๙๖ นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเฉลิมพระเกียรติในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคนิค ตลอดจนบุคลากรของกองทัพเรือในการสร้างเรือขึ้นใช้เอง ซึ่งถือเป็นการ พึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริ ยังเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถการสร้างเรือของเอกชน และส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศ นอกจากนั้น ยังเป็นการทดแทนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุด เรือ ต.๑๑ สังกัดกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ และเมื่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ทั้ง ๓ ลำ ได้แก่ เรือ ต.๙๙๔, ต.๙๙๕ และ ต.๙๙๖ ดำเนินการต่อแล้วเสร็จ ก็จะสามารถเสริมสร้างกำลังทางเรือและปฏิบัติภารกิจในการลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึม คุ้มครองเรือประมง ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์
คุณลักษณะทั่วไปของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.๙๙๕ และเรือ ต.๙๙๖ มีความยาวตลอดลำ ๔๑.๗๐ เมตร ความกว้าง ๗.๒๐ เมตร กราบเรือสูง ๓.๘๐ เมตร กินน้ำลึก ๑.๘๐ เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ ๒๑๕ ตัน มีความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า ๒๗ นอต ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ไมล์ทะเล ระยะเวลาปฏิบัติการในทะเลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๗ วัน และมีความทนทะเล ระดับ ๓
การประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือมีที่มาจากการต่อเรือเดินทะเล ซึ่งครั้งแรกของการสร้างจะเริ่มด้วยการวางกระดูกงูเรือก่อน โดยจัดให้มีพิธีวางกระดูกงูเรือและเชิญแขกผู้มีเกียรติมาร่วมในพิธี โดยผู้ที่เป็นประธานในพิธีจะทำการย้ำหมุดตัวแรก และมีพิธีในทางศาสนาด้วย สำหรับพิธีวางกระดูกงูถือกันว่าเพื่อให้เกิดความสวัสดีมีชัยและความวัฒนาถาวรแก่เรือ และนอกจากนั้นยังถือกันว่าเป็นการเชิญแม่ย่านางเรือให้เข้ามาสิงสถิตด้วย (ที่มา : สลก.ทร.)
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐-๒๔๗๕-๕๗๓๓,๐-๒๔๖๕-๓๐๑๘, ๐ ๒๔๗๕ ๕๑๘๔ แฟกซ์ ๐-๒๔๗๕-๕๗๓๒ ,๐-๒๔๖๖-๑๘๑๑