นายแพทย์ประยูร เจนตระกูลโรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผิวหนัง อโศก ออกมาแสดงความเป็นห่วงเรื่องโรคมะเร็งผิวหนังว่า ปัจจุบันรังสี อัลตร้าไวโอเลต มีความเข้มข้นสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน แสงอัลตราไวโอเลต (UVA,UVB) จะยิ่งสัมผัสผิวหนังได้มากยิ่งขึ้น สำหรับคนที่ชอบกิจกรรมกลางแจ้ง ชอบอาบแดด จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง รวมทั้ง คนผิวขาว ผิวไหม้แดดง่าย มีโอกาสเสี่ยงสูง เพราะมีเม็ดสีที่ผิวหนังน้อย ความสามารถในการป้องกันเซลล์ผิวหนังจากแสงอัลตราไวโอเลตจึงน้อยกว่าคนผิวคล้ำ โดยทั้งนี้ยังมี ปัจจัยอื่นประกอบ ทำให้เกิดโรคมะเร็งที่พึงระวัง เช่น การได้รับสารเคมีก่อมะเร็ง จำพวกสารหนูที่ปนอยู่ในน้ำ ยาหม้อ ยาไทย ยาจีน ยาลูกกลอน หรือการมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง
สำหรับวิธีการป้องกัน ควรเลี่ยงจากแสงแดดในทุกช่วงเวลา หรือควรมีเครื่องกำบัง เช่น ร่ม ทาครีมกันแดด SPF 50 ขึ้นไป และค่า PA +++ และ ควรตรวจสอบ สังเกตความผิดปกติของร่างกายเสมอ มะเร็งทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นที่อวัยวะใด ถ้าสามารถตรวจพบตั้งแต่แรก และกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติออกได้หมด ก็สามารถหายขาดได้ มะเร็งผิวหนังมีข้อเด่นคือ ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอก เราสามารถมองเห็นได้ จึงทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติในระยะเริ่มแรกได้รวดเร็ว และยังติดตามการรักษาได้ง่าย โดยสามารถสังเกตอาการได้ด้วยตนเอง โดย ถ้าเป็นไฝที่เป็นอยู่เดิม มีรูปร่างเปลี่ยนไป อาจใช้หลักง่ายๆ คือ ABCD ดังนี้ A= ASYMMETRY ลักษณะของไฝทั้งสองข้างไม่เหมือนกัน ,B=BORDER IRREGULARITY ขอบของไฝไม่เรียบ C=COLOR สีของไฝไม่สม่ำเสมอ ,D=DIAMETER ขนาดของไฝใหญ่กว่า 6 มม. หรือหากเป็นผื่น มีอาการก้อนที่เกิดขึ้นใหม่ และไม่หายใน 4-6 สัปดาห์ รวมทั้ง แผลเรื้อรังไม่หายใน 4 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
ในด้านการรักษา มีหลายวิธีขึ้นกับชนิด ตำแหน่ง และการลุกลามของโรค โดยทั่วไปมักใช้วิธีผ่าตัดเอามะเร็งผิวหนังออกให้หมด หลายครั้งที่มะเร็งเกิดบนใบหน้า ในบริเวณที่อาจมีการผิดรูปจากการผ่าตัดได้ ปัจจุบันมีวิธีผ่าตัดโดยวิธีที่เรียก Mohs micrographic surgery แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อและส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ในคราวเดียวกัน เพื่อตรวจดูว่าได้ตัดมะเร็งออกได้หมด หากยังมีหลงเหลือ ก็จะกลับมาผ่าตัดซ้ำจนหมด จึงจะเย็บปิดแผล วิธีนี้จะทำให้สามารถตัดมะเร็งออกได้หมดในคราวเดียว โดยไม่ตัดเนื้อดีออกมากเกินจำเป็น แต่ในบางครั้ง มะเร็งถูกทิ้งไว้จนมีขนาดใหญ่เกินที่จะตัดออกได้หมด อาจรักษาโดยการใช้รังสีรักษา ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย
นพ. ประยูร อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคมะเร็งผิวหนังว่า มะเร็งผิวหนังมีหลายชนิด ที่พบบ่อย ได้แก่ Squamous cell carcinoma, Basal cell carcinoma อีกชนิดที่พบไม่บ่อย แต่มีความร้ายแรง เพราะสามารถกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้รวดเร็วคือ มะเร็งของเซลล์เม็ดสี ที่เรียก malignant melanoma มะเร็งผิวหนังอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้นช้าๆ และลุกลามเฉพาะที่ หรืออาจแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ควรรีบทำการรักษา เพื่อไม่ให้เกิดการลุกลาม หรือส่งผลร้ายในระยะยาว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 246 5111 ต่อ 222 ฝ่ายประชาสัมพันธ์