BAAC มีสินทรัพย์รวม 677.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 และเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินแก่ภาคการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 (สิ้นสุด 30 กันยายน 2552) ของ BAAC ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.0 พันล้านบาท เทียบกับ 4.4 พันล้านบาท ในครึ่งแรกของปี 2551 โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง จากการปรับตัวที่ลดลงของเงินชดเชยต้นทุนโครงการนโยบายรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโครงการรัฐ และรายได้ดอกเบี้ยจากเงินกู้ระหว่างธนาคารที่ลดลง ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิลดลงเป็น 4.1% ในครึ่งแรกของปี 2552 จาก 5.4% ในปี 2551 เนื่องจากลูกหนี้รอการชดเชยโครงการนโยบายรัฐซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนต่ำมีการเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างมาก (17% ของสินทรัพย์รวม) สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 51.5 พันล้านบาท หรือ 9.8% ของสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 จาก 35.5 พันล้านบาท หรือ 7.3% ของสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2551 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอในปี 2552 แต่อย่างไรก็ตามธนาคารคาดว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะลดลงภายในสิ้นปี (31 มีนาคม 2553) โดยเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนราคาสินค้าเกษตร และสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ BAAC ลดลงเป็น 11.1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง (เพิ่มขึ้น 7.4% จาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552)
GHB มีสินทรัพย์รวม 663.8 พันล้านบาท และเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนที่มีรายได้อยู่ในระดับล่างถึงระดับปานกลาง ทั้งนี้ธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ประมาณ 38% ผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นโดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% จากปีก่อน เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลงและการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตของสินเชื่ออยู่ที่ 5% จากปีก่อน ขณะเดียวกันคุณภาพสินทรัพย์ได้ปรับตัวลดลงในปี 2551 โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 84.3 พันล้านบาท (13.6% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2551) จาก 52.5 พันล้าน ณ สิ้นปี 2550 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการจัดชั้นลูกหนี้ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกันค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังปรับตัวลดลงแม้ว่าจะมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นในปี 2551 ณ สิ้นปี 2552 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงมาอยู่ที่ 80.7 พันล้าน เนื่องจากมาตรการการติดตามหนี้ที่เข้มงวดมากขึ้น อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นที่ 11.97% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 จาก 11.33% ณ สิ้นปี 2551 แสดงถึงความแข็งแกร่งของเงินกองทุนที่เพียงพอ ขณะที่อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น มาอยู่ที่ 5.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 จาก 4.4% ณ สิ้นปี 2551 หลังจากที่รัฐบาลมีการเพิ่มทุนให้กับ GHB จำนวน 3 พันล้านบาทในเดือนกันยายน 2552 เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อ
GSB มีสินทรัพย์รวม 949.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 และธนาคารเป็นสถาบันการเงินที่ส่งเสริมการออมหลักของรัฐบาล ผลการดำเนินงานของ GSB ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2552 (สิ้นเดือนกันยายน 2552) ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิ 11.5 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2551) ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง สินเชื่อของธนาคารเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2552 (เพิ่มขึ้น 28% จาก ณ สิ้นปี 2551) เนื่องจากบทบาทของธนาคารในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 19.4 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมยังคงลดลงมาอยู่ที่ 2.8% จาก 4.9% ณ สิ้นปี 2551 เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อ แม้ว่าอัตราส่วนเงินกองทุนของ GSB จะลดลงจากการที่สินเชื่อเติบโตขึ้นอย่างมาก อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ GSB ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 15% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 เทียบกับ 19.7% ณ สิ้นปี 2551
หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ นี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Global Financial Institution Criteria ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ, นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4755