อันดับเครดิตของ TISCOB สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไร คุณภาพสินทรัพย์ และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ TISCOB พึ่งพาแหล่งเงินระยะสั้นเป็นหลักและมีการกระจายตัวของการระดมเงินไม่มากนัก ทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงด้านการระดมเงินและสภาพคล่องสูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่ สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพนั้น สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไร คุณภาพสินทรัพย์ และฐานะเงินกองทุนที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แม้ว่า TISCOB จะมีความแข็งแกร่งในการระดมเงินและสภาพคล่องที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่
จากการที่ TISCOB มีการพึ่งพาเงินฝากจากลูกค้าผู้ฝากเงินรายใหญ่เป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 77% ของฐานเงินฝากของธนาคาร (รวมตั๋วแลกเงิน หรือ B/E) อีกทั้งเงินฝากและหนี้สินส่วนใหญ่ของธนาคารเป็นหนี้สินระยะสั้น ส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงมากขึ้น หากเกิดปัญหาสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย แต่อย่างไรก็ตามการยืดระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนสำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ไทยออกไปอีก 3 ปี คาดว่าจะช่วยรักษาเสถียรภาพของการระดมเงินของธนาคารในอีก 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากนั้น TISCOB มีแผนที่จะเพิ่มฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยให้มีสัดส่วนมากขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเช่นกัน ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2552 TISCOB มีสัดส่วนลูกค้าเงินฝากรายย่อยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 23% ของเงินฝาก จาก 13% ณ สิ้นปี 2551 นอกจากนั้น TISCOB คาดว่าฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นประมาณ 35% ของเงินฝาก ณ สิ้นปี 2553
ผลการดำเนินงานในปี 2552 ของ TISCOB ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 พันล้านบาท จาก 4.3 พันล้านบาทในปี 2551 โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% (4.1% ในปี 2551) โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อ (เพิ่มขึ้น 7.4% จากปี 2551) และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ TISCOB มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 พันล้านบาท จาก 1.2 พันล้านบาทในปี 2551 อัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์ทรงตัวอยู่ในระดับเดิมที่ 1.1% เทียบกับปี 2551 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรต่อเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 12.5% จาก 12.1% ในปี 2551
TISCOB มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเล็กน้อยเป็น 2.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 (จาก 2.6 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2551) หรือประมาณ 2.3% ของสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตามสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 พันล้านบาท หรือ 1.1% ของสินเชื่อ ในปี 2552 (จาก 0.7 พันล้านบาท หรือ 0.8% ของสินเชื่อในปี 2551) เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ หากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ TISCOB เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 84.8% ณ สิ้นปี 2552 จาก 62.5% ณ สิ้นปี 2551
ในขณะที่เงินกองทุนของ TISCOB ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารได้ลดลงอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงและการเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนวิธีการคำนวณเงินกองทุนเป็นแบบ Internal Rating Based ตามหลักเกณฑ์ของ Basel II ณ สิ้น ปี 2552 ส่งผลให้เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12.5% จาก 10.4% ณ สิ้นปี 2551 เนื่องจากสินเชื่อรายย่อยมีน้ำหนักความเสี่ยงในการคำนวณที่ต่ำกว่า เงินกองทุนรวมของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 16.96% จาก 11.71% เนื่องจากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิจำนวน 4 พันล้านบาทในปี 2552 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารลดลงเป็น 8.6% จาก 9.3% ณ สิ้นปี 2551
TISCOB ก่อตั้งในปี 2512 โดยมีฐานะเป็นบริษัทเงินทุน และได้เปลี่ยนสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคม 2548 หลังจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกลุ่มในเดือนธันวาคม 2551 ส่งผลให้ TISCOB เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCOFG TISCOB เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการหลักในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทย
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ซึ่งถูกถือหุ้น 100% โดย บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ นี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Global Financial Institution Criteria ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 และ National Ratings-Methodology Update ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4755
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ ‘AAA’ และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น ‘AAA(tha)’ ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com
การใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยฟิทช์เรทติ้งส์มีข้อจำกัดและขอบเขตการใช้ ซึ่งข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวสามารถหาได้จาก HTTP://FITCHRATINGS.COM/UNDERSTANDINGCREDITRATINGS นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน