ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงทำให้แนวโน้มการบริโภคและการดำเนินชีวิตแตกต่างจากเดิม สร้างโอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ

อังคาร ๒๐ เมษายน ๒๐๑๐ ๐๘:๑๕
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Economic Intelligence Center: SCB EIC) ได้วิเคราะห์เชิงลึกถึงปัจจัยทางโครงสร้างประชากรที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการบริโภคของคนไทย เพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจในการตอบสนองแนวโน้มความต้องการในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงสร้างประชากรทั้งทางด้านอายุ สถานภาพสมรส ระดับรายได้ และพฤติกรรมการดำเนินชีวิต

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว “การบริโภคของเราขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นใคร เช่น คนหนุ่มสาวในเมืองรายได้น้อยจะมีพฤติกรรมการบริโภคต่างออกไปจากครอบครัวฐานะปานกลางในชนบทที่มีบุตรอยู่ด้วย ซึ่งสถานะของเรานั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยผลักดันมาจากความสูงวัย รายได้ที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ความสูงวัยของประชากรเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด โดยภายในปี 2020 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยมากกว่า 12 ล้านคน คิดเป็น 17% ของประชากร นอกจากนี้ ระดับรายได้ยังเพิ่มสูงขึ้นโดยสัดส่วนของครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของประชากรทั้งหมด พฤติกรรมของประชากรก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จะมีการแต่งงานช้าลง การหย่าร้างมากขึ้น และบุตรจะย้ายออกจากบ้านคุณพ่อคุณแม่และพึ่งพิงตนเองมากขึ้น”

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจฯ นำเอาแนวโน้มต่าง ๆ มาประมาณการโครงสร้างของประชากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้พิจารณาในทั้ง 5 มิติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อายุ เพศ รายได้ พื้นที่ที่อยู่อาศัย (กรุงเทพฯ และปริมณฑล หัวเมืองในเขตภูมิภาค และชนบท) และโครงสร้างครัวเรือน (เช่น อยู่คนเดียว สมรสแต่ไม่มีบุตร เป็นต้น) ซึ่งพบว่า มีครัวเรือนจำนวนมากขึ้นที่อยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางแต่ไม่ใช่ครัวเรือนในลักษณะดั้งเดิม อีกทั้ง ยังพบว่ามีผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ความต้องการอาจยังไม่ได้ถูกตอบสนองได้เต็มที่เกิดขึ้นมา เช่น สตรีที่เป็นโสด คู่สมรสที่ไม่มีบุตร และคู่สมรสที่อยู่กับบุตรหลาน

“เราสร้างเครื่องมือขึ้นมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเตรียมความพร้อมและคว้าโอกาสจากรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยสามารถจัดประเภทของผู้บริโภคได้มากกว่า 4,000 แบบ หลากหลายตาม 5 มิติที่เกี่ยวข้อง และเพราะเราสามารถจัดประเภทของผู้บริโภคได้หลายแบบนี้เอง จึงสามารถจัดกลุ่มข้อมูลให้เหมาะสมต่อกลุ่มธุรกิจหนึ่งๆ ได้” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริม

จากการวิเคราะห์พบว่าไทยไม่มี “จังหวะน้ำขึ้น” ที่ต้องรีบตักอย่างเด่นชัด เหมือนกับรูปแบบของคนเมืองชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับโอกาสที่เกิดขึ้นในตลาดครัวเรือนแบบใหม่ๆ ที่แม้จะไม่ใช่กลุ่มตลาดที่ใหญ่มาก แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยเราคาดว่าครัวเรือนแบบ “คลาสสิค” หรือครอบครัวพ่อแม่ลูก มีสัดส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ โดยลดลงจากประมาณ 44% ของประชากรในปี 1994 เหลือเพียง 32% ในปี 2007 และจะตกลงมาอยู่ที่ราว 21% ในปี 2020 ในทางตรงกันข้าม คนที่อยู่คนเดียวและคู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรจะเพิ่มขึ้นมาก คาดว่าในปี 2020 จะมีสัดส่วน 6% และ 14% ของประชากรตามลำดับ นอกจากนั้น ครอบครัวที่ไม่ใช่ครัวเรือนเดี่ยวจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่จะเป็นการเพิ่มขึ้นจากคู่สามีภรรยาที่อยู่แต่กับหลาน (เช่น หลานอยู่กับคุณปู่คุณย่า) และคนโสดที่อยู่กับญาติ มากกว่าครอบครัวขยายแบบดั้งเดิม

“ยกตัวอย่างเช่น คู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรเป็นลักษณะครัวเรือนที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมมากที่สุด โดยในปี 2007 มีสัดส่วนกว่า 35% แซงหน้าครัวเรือนประเภทที่อยู่คนเดียวที่เคยมีสัดส่วนสูงสุด อีกทั้ง ยังเป็นลักษณะครัวเรือนที่ย้ายมาอยู่คอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นสูงที่สุด ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมราว 15% ต่อปี ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การตัดสินใจระหว่างเลือกสร้างบ้านเดี่ยวขายหรือคอนโดมิเนียมอาจไม่พออีกต่อไป แต่ต้องสินใจต่อด้วยว่าจะสร้างประเภทไหน ถึงจะถูกใจผู้ซื้อและขายได้ดี เช่น แทนที่จะมุ่งเน้นห้องพักประเภท studio มีพื้นที่ใช่สอยไม่มาก ตั้งอยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้า มาเป็นจัดให้มีห้องพักประเภท 1 — 2 ห้องนอน มีพื้นที่ใช้สอยพอสมควร อาจมีครัวย่อมๆ มีที่จอดรถเพียงพอ” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

“เรื่องหลายเรื่องในโลกเป็นเรื่องที่ไม่เที่ยง ภาวะเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องไม่แน่นอน มีขึ้นมีลง ไม่สามารถควบคุมได้ แต่เรื่องที่ค่อนข้างแน่นอนและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย ดังนั้น ภาครัฐ กลุ่มธุรกิจ และผู้ประกอบการ ไม่เพียงต้องปรับตัวเพื่อพร้อมรับมือ แต่ควรปรับตัวเพื่อฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงนี้” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน SCB Insight เรื่อง “โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง ทำให้การบริโภคของไทยเปลี่ยนอย่างไร?” สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953 อีเมล [email protected]

Wattanee Somchit (A)

Manager, Press Relationship,

Corporate Communications Office

Siam Commercial Bank PCL.

Tel : (0) 2544-4502 / (0)2544-4501-3

Fax : (0) 2937-7454

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version