จากเด็กสาวที่พกพาความมุ่งมั่นความใฝ่ฝันข้ามฟ้าเป็น “สาวนักเรียนนอก” โดยไม่ได้มีนามสกุลดังเป็นใบเบิกทาง และไม่ได้มีเงินถุงเงินถังเป็นต้นทุน แถมทางด้านภาษาก็ไม่ได้เชี่ยวชาญ แต่ในที่สุดเธอก็คว้ามาสเตอร์ดีกรีทางด้าน Media Communications จากมหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ ที่เมืองเซ็นต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา มาด้วยความสำเร็จ พร้อมเติบโตทางด้านหน้าที่การงานอยู่ในองค์กรที่มั่นคงแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานของรัฐและเอกชน และยังเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ มานานเกือบ 20 ปีแล้ว
“เอ” คือตัวเอกของเรื่องที่ได้ถ่ายทอดความทรงจำคุณค่าของความรักผ่านตัวหนังสือเป็นผลงานวรรณกรรม “จดหมายถึงแม่...จากมะริกันถึงเมืองไทย” ที่อยากจะให้หนังสือเล่มนี้เป็นตัวแทนของลูกทุกคน เพื่อเป็นของขวัญมอบให้แก่แม่ทั่วประเทศ...
“ทุกวันนี้เงินเพียงพอแล้วสำหรับเอ จึงอยากจะมีส่วนช่วยสังคมบ้าง ทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาไม่ได้หวังกำไร ราคาขายอยู่ที่ 180 บาทเอง เป็นราคาที่ไม่แพง เพราะอยากให้เด็กๆทุกคนสามารถซื้ออ่านได้ และนอกจากนี้ยังนำไปมอบให้องค์กรแห่งหนึ่งซึ่งจะส่งต่อไปให้กับน้องๆ ที่ด้อยโอกาสอีกด้วย” ผู้แต่งหนังสือบอกเล่า
‘จดหมายถึงแม่...จากมะริกันถึงเมืองไทย’ เป็นความรู้สึกเล็กๆ ซึ่งถ่ายทอดความรักจากลูก...ถึงแม่ ที่สะท้อนมุมมองการใช้ชีวิตในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การคบเพื่อน รวมทั้งการใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรให้อยู่รอดและปลอดภัยในสังคม พร้อมนำประสบการณ์เหล่านั้นก้าวย่างสู่ความสำเร็จของชีวิต
“เมื่อก่อนจะไปเรียนเมืองนอกจะไม่มีหนังสือที่พูดถึงการใช้ชีวิตอย่างนี้เลย มีแต่จะไปเรียนมหาวิทยาลัยไหน ต้องเตรียมตัวอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร แบบนี้เยอะ
...ตอนนั้นจึงเกิดความกลัว ไม่รู้ว่าอเมริกาเป็นยังไง เพราะก่อนไปมีแต่คนขู่ว่าต้องไม่จบแน่ๆ กว่าจะเรียนจบได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คือตอนนั้นไปเมืองนอกเป็นครั้งแรกของชีวิต ไม่เคยห่างจากพ่อแม่เลย เพราะเป็นลูกคนเดียว ไปครั้งแรกไปอยู่มหาวิทยาลัยท็อปของอเมริกาที่อินเดียน่า ต่อมาก็ย้ายไปที่มหาวิทยาลัยที่มิชิแกน แล้วก็มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ ที่เซ็นต์หลุยส์ ใช้เวลาเรียนภาษาอังกฤษ 1 ปีกับ 3 มหาวิทยาลัย โดยนึกถึงคำพูดที่อยู่ในใจเสมอว่า..เมื่อมีโอกาสแล้ว...อย่าละความพยายามในสิ่งที่เราได้มา เพราะเรามีโอกาสดีกว่าคนอื่นอีกหลายคนที่ได้มีโอกาสมาเรียนต่อ
...การไปเรียนเมืองนอกไม่ได้โก้ ยังมีมุมมองอื่นๆ ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงในสิ่งที่ตัวเองพลาด ท้อแท้ โง่ เชย เฉิ่ม โดยเฉพาะการมาอยู่เมืองนอก จะเหงาและว้าเหว่มากๆ สิ่งนี้ทำให้บางคนเสียคนก็มาก แต่ของเอจะใช้วิธีเขียนจดหมายถึงแม่ที่เมืองไทย เหมือนเป็นบันทึกประจำวันว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง พบอะไรมาบ้าง เอเขียนหลายหน้ามากเป็น 10 หน้าได้ในแต่ละฉบับ
...การคบเพื่อน บางครั้งพอบอกเป็นคนไทยด้วยกัน เขาก็ไม่อยากจะพูดด้วย เพราะกลัวจะไปเอาผลประโยชน์ แต่เราก็ต้องดู เลือกคบคนด้วย เมื่อก่อนอยู่เมืองไทยจะเป็นคนไม่ชอบคบใคร แต่มาที่นี่ทำให้เราเรียนรู้ในสังคมว่าจะต้องมีเพื่อน และช่วยเหลือกัน เพราะหากเรามีปัญหาหรือเจ็บป่วยก็จะไม่ใครดูแลเรา
...เด็กจบนอกมักนำค่านิยมของฝรั่งมาใช้ เพราะมองว่าโก้ตัวเองจบนอก คนอื่นจะได้รู้ว่าเป็นนักเรียนนอก ต้องยอมรับว่าทุกวัฒนธรรมย่อมมีทั้งดีและไม่ดี วัฒนธรรมที่ไม่ดีของฝรั่งก็มีเยอะอย่างที่เราเห็น แต่วัฒนธรรมที่ดีของฝรั่ง กลับไม่ยอมเอามาใช้ เช่น ระเบียบวินัย การกล้าแสดงออก เป็นต้น
...หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับน้องๆ วัย 17 ปีจนถึง 25 ปี ที่จะเป็นเข็มทิศของชีวิต ค่อยๆ ไล่เรียงนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาปรับใช้ในการศึกษาเล่าเรียนทั้งในต่างแดนหรือการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เพราะหากตัวเรามีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจ และมุ่งมั่น ก็จะประสบความสำเร็จตามความใฝ่ฝันได้ ”
หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถผลักดันสถาบันครอบครัวให้เกิดความรัก ความเข้าใจกันและกัน โดยเฉพาะหากคนเป็นลูกอ่านจบหวังว่าจะเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอดและสอดแทรกผ่านตัวหนังสือ ด้วยความหวังว่าจะถูกซึมซับและกล่อมเกลาให้ชีวิตเดินทางสู่สิ่งที่ถูกที่ควร เพื่อเป็นของขวัญสำหรับคุณแม่ของทุกคน ซึ่งไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่สำหรับแม่....ที่เห็นลูกเป็นคนดีและก้าวเดินในสิ่งที่ถูกที่ควร
และที่สำคัญ พื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวจะเป็นเกราะคุ้มกันภัยที่ดีที่สุด ในการที่จะทำให้เราคิดเราเลือกและการตัดสินใจเลือกเส้นทางเดิน...ก้าวสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จได้แน่นอน