ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)และบริษัทย่อย แจ้งผลการดำเนินงานก่อนการสอบทานสำหรับงวด 3 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 มีกำไรสุทธิ 348 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 605 ล้านบาท หรือ 236% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขาดทุนสุทธิ 257 ล้านบาท
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงรายงานทางการเงินที่ยังไม่ได้สอบทาน (un reviewed) ว่าธนาคารและบริษัทย่อยมีผลกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 จำนวน 348 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจำนวน 605 ล้านบาท หรือคิดเป็น 236% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ที่มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 257 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากดำเนินธุรกิจหลักของธนาคารที่สามารถปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ รายได้จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่1 ของปี 2552 จำนวน 156 ล้านบาท หรือ 14% และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13 ล้านบาท หรือ 2%
นอกจากนี้ ด้วยกลยุทธ์การบริหารเงินฝากที่เหมาะสม จึงทำให้ต้นทุนเงินฝากของธนาคารลดลงและส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยส่วนต่างดอกเบี้ยของไตรมาสที่ 1 ปี 2552 อยู่ที่ 2.6 % ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อยู่ที่ 4.3% ขณะที่เงินฝากลดลง 7% และเงินให้สินเชื่อลดลง 2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2552 ทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากขึ้นมาอยู่ที่ 102% ในไตรมาส 1 ปี 2553 (92% ถ้าหากเงินฝากนับรวมตั๋วแลกเงิน) เงินให้สินเชื่อของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2552 โดยส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอี แต่เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานบัญชี ธนาคารได้มีการจัดประเภทรายการเงินลงทุนในบริษัทย่อยใหม่เป็นสินทรัพย์ที่ถือไว้เพื่อขาย ดังนั้นจากการจัดประเภทรายการใหม่ จึงทำให้เงินให้สินเชื่อของกลุ่มธนาคารที่รายงานในงบการเงินรวมลดลง 2%
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารลดลง 19% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ขณะที่สัดส่วนต้นทุนต่อรายได้ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 71.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 97.1%
นายสุภัค กล่าวว่า สินเชื่อด้อยคุณภาพ (gross NPL) ตามงบการเงินรวมอยู่ที่ 8.8 พันล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อทั้งหมดลดลงเหลือ 10.4% เมื่อเปรียบเทียบกับ 15.6% และ 14.9% ณ ไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ตามลำดับ สินเชื่อด้อยคุณภาพที่ลดลงดังกล่าวเกิดจากการที่ธนาคารมีแผนการขายบริษัทบริหารสินทรัพย์สาทร (STAMC) และจากการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารเอง ส่วนสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 0.8% เมื่อเทียบกับ 1.4% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ปรับดีขึ้น 0.6% อันเนื่องมาจากการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพในไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้สัดส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 53.6% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553
“การกลับมาสร้างผลกำไรในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 นี้ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หลังจากผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ตลอดจนกลยุทธ์ในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ (Transformation) มาตลอดปี 2552” นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าว “อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 นี้ ธนาคารยังมีภารกิจที่ยังจะต้องทำการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอีกหลายด้าน เพื่อวางรากฐานและความพร้อมในการดำเนินธุรกิจเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ” นายสุภัคเสริม
ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ตามวิธี Basel II) อยู่ที่ 6.1% และ 12.1% ตามลำดับ แต่หากนับรวมผลประกอบการของไตรมาสนี้แล้วอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะอยู่ที่ 7.0% และ 13.2% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย
มรกต
Morrakot Jiranitirat
Corporate Communications Office
CIMB Thai Bank Public Company Limited
Tel: 02-638-8249
Fax: 0-2-657-0384