เมื่อมองในระดับประเทศแล้ว ประเทศเศรษฐกิจใหม่ครอง 4 อันดับจาก 5 อันดับแรกของประเทศที่มีทัศนคติด้านบวกสำหรับปีนี้ โดยชิลี (+85%), อินเดีย (+84%), ส่วนเวียดนาม (+72%) และบราซิล (+71%) ก็ตามติดโดยถูกออสเตรเลีย (+79%) คั่นอยู่ ส่วนประเทศเศรษฐกิจใหม่ประเทศอื่นๆ อาทิ บอตสวาน่า จีน แอฟริกาใต้ มาเลเซีย และโปแลนด์ ล้วนมีค่าดุลยภาพทัศนคติด้านบวกกว่า 40%
ทั้งนี้ ดัชนีบ่งชี้โอกาสของประเทศเศรษฐกิจใหม่ของแกรนท์ ธอร์นตัน (The Grant Thornton Emerging Markets Opportunity Index) (ภาพประกอบ 2) ระบุว่าประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ 5 อันดับแรกยังคงเป็นเหมือนกับปี 2008 ซึ่งจีนอยู่ในอันดับที่หนึ่งเนื่องจากมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ระบบเศรษฐกิจแบบเปิดที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น และการเติบโตของการค้า ตามด้วยประเทศกำลังพัฒนาจากเอเชีย ซึ่งก็คืออินเดีย ส่วนรัสเซียอยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยความร่ำรวยทางทรัพยากรธรรมชาติ ตามด้วยสองประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา ได้แก่ เม็กซิโกและบราซิล
อเล็กซ์ แมคบีธ ผู้บริหารระดับสูง ของแกรนท์ ธอร์นตัน อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า "ความสำคัญของประเทศเศรษฐกิจใหม่ต่อเศรษฐกิจโลกนั้นได้รับความสนใจอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อโลกกำลังก้าวพ้นผ่านสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะนอกจากประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบต่ำกว่ามาก แต่ยังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอีกด้วย โดยมีคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเป็นเท่าตัวของประเทศที่เจริญแล้วภายในระยะเวลาสองปี "
ดัชนีบ่งชี้โอกาสของประเทศเศรษฐกิจใหม่ของแกรนท์ ธอร์นตัน ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่สิบของประเทศที่มอบโอกาสที่ดีที่สุดให้กับนักลงทุน โดยลดลงสองอันดับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีดังกล่าวเป็นต้นมา แต่ยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าว สิ่งทอ และรองเท้า ที่แข็งแกร่ง และข้าวยังคงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญมากที่สุดของประเทศไทย
ถึงแม้ว่าในปีที่แล้ว (ปี 2009) ระดับของทัศนคติด้านบวกของธุรกิจในประเทศไทยลดลง 33% (อยู่ที่ -63%) อย่างไรก็ตาม บรรยากาศทางธุรกิจได้พลิกฟื้นอย่างชัดเจนในปีนี้ ด้วยค่าดุลยภาพที่ +12% สำหรับเศรษฐกิจไทยในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยเป็นการขยายตัวครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่หก ระหว่างปี 2009 ถึง 2010 และผลักดันให้ระดับทัศนคติด้านบวกเพิ่มขึ้นในระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2007
เอียน แพสโค กรรมการบริหารแกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า “ผลประโยชน์หรือข้อดีสามประการหลักที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ สิ่งตอบแทนต่างๆ ค่าจ้างแรงงานต่ำ และการละเมิดความปลอดภัยที่อยู่ในระดับต่ำสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนักลงทุนยังสามารถรับการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าและภาษีธุรกิจ และค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยยังแข่งขันได้แม้ว่าในประเทศเพื่อนบ้านอาจมีค่าจ้างแรงงานในระดับที่ต่ำกว่าบ้างก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น สาธารณูปโภคยังมีความเพียบพร้อมเหนือกว่าประเทศเศรษฐกิจใหม่ประเทศอื่นๆ อาทิเช่น เวียดนาม จึงทำให้ประเทศไทยมีความน่าดึงดูดใจทั้งต่อ นักลงทุน นักธุรกิจ และพนักงาน”
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวยังบ่งชี้ว่าธุรกิจในประเทศเศรษฐกิจใหม่เกรงว่าอนาคตการเติบโตของตนจะถูกกระทบจากการเข้าถึงเงินทุนและการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะสูง ในระดับที่มากกว่าประเทศคู่แข่งที่เจริญแล้วอย่างมาก
ในการนี้ อเล็กซ์ แมคบีธ กล่าวว่า "โอกาสสำหรับนักลงทุนจากทั้งประเทศที่เจริญแล้วและประเทศเศรษฐกิจใหม่นั้นมหาศาลในการหล่อเลี้ยงทัศนคติด้านบวกและช่วยเหลือธุรกิจให้เดินข้ามอุปสรรคต่อการขยายกิจการ ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศเหล่านี้และธุรกิจต่างๆ นั้นกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและเปี่ยมไปด้วยพลัง ดังนั้น การเพิกเฉยต่อประเทศเหล่านี้อาจเป็นความเสี่ยงต่อโอกาสในการทำกำไรในระยะยาว "
เกี่ยวกับรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติ (International Business Report: IBR):
รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ Grant Thornton International Business Report (IBR) เป็นรายงานประจำปีที่สำรวจทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทเอกชน (Privately Held Businesses: PHBs) ขนาดกลางถึงใหญ่ทั่วโลกจำนวน 36 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจ กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการสำรวจถูกสุ่มคัดเลือกโดยพิจารณาจากจำนวนพนักงานและรายได้ของบริษัท จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่น้อยที่สุดต่อหนึ่งประเทศคือ 100 คน ทั้งนี้เพื่อความน่าเชื่อถือทางสถิติ อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ก็จะมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างมากตามไปด้วย แกรนท์ ธอร์นตัน ได้ให้บริษัทวิจัยการตลาด Experian Business Strategies เป็นผู้ดำเนินการสำรวจนี้ ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ IBR ได้ที่ www.internationalbusinessreport.com
เกี่ยวกับดัชนีบ่งชี้โอกาสของประเทศเศรษฐกิจใหม่ ของแกรนท์ ธอร์นตัน:
ดัชนีบ่งชี้โอกาสของประเทศเศรษฐกิจใหม่ ของแกรนท์ ธอร์นตัน จัดอันดับระดับของโอกาสสำหรับนักลงทุนในประเทศเศรษฐกิจใหม่จำนวน 27 ประเทศทั่วโลก โดยพิจารณาจากขนาด ความมั่งคั่ง ความสัมพันธ์กับการค้าโลก โอกาสในการเติบโต และระดับการพัฒนาบุคลากร และนำเสนอประเทศดังกล่าวในมุมมองของโอกาสในการลงทุนด้วยข้อมูลเกี่ยวกับความใหญ่ของขนาดเศรษฐกิจ ความรวดเร็วในการขยายตัว และความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่อง
เกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย:
แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงธุรกิจในฐานะบริษัทที่ปรึกษาและให้บริการอย่างมืออาชีพ ระดับแนวหน้าของประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแก่บริษัทต่างๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี พ.ศ. 2540 โดยใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าใช้จ่าย และการปรับปรุงแผนธุรกิจ กลุ่มงานให้บริการของแกรนท์ ธอร์นตัน ได้แก่ การให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ การตรวจสอบบัญชี การให้คำปรึกษาทางภาษี การให้บริการปรึกษาเฉพาะทาง และการจัดหาบุคลากรระดับผู้บริหาร ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กรุณาเข้าชมเว็บไซต์ www.grantthornton.co.th
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
มร. เอียน แพสโค คุณลักษณ์พิไล วรทรัพย์
กรรมการบริหาร ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร
แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย
โทร: 02 205 8222 โทร: 02 205 8142
อีเมล์: [email protected] อีเมล์: [email protected]