นายถนอม อ่อนเกตุพล โฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงผล การประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร
จ้างที่ปรึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร
นายถนอม กล่าวว่า ตามที่กทม.มีแผนที่จะพัฒนาโครงการระบบขนส่งของกทม.ทั้งหมด ได้แก่ BTS BRT และโครงการ ขนส่งทางน้ำด้วยนั้น ในระยะสั้นจะดำเนินการโดยใช้งบประมาณของกทม.หรือรัฐบาล หรือร่วมกันออกพันธบัตรเพื่อระดมทุน และในระยะยาวมีแผนใช้การระดมทุนในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน Public Private Partnership อย่างไรก็ตามตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานที่ประสงค์ให้เอกชนเข้าร่วมงาน ต้องเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการโดยละเอียดต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ ส.ศ.ช. และถ้ามีวงเงินหรือทรัพย์สินเกิน 5,000 ล้านบาท หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องว่าจ้างที่ปรึกษา และที่ปรึกษาต้องจัดทำรายงานตามรายละเอียดที่ ส.ศ.ช.กำหนด ทั้งนี้ให้กระทรวงเจ้าสังกัดของหน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอผลการศึกษาต่อ สศช. หรือต่อกระทรวงการคลัง และหากเห็นด้วยกับโครงการให้นำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ
ดังนั้น กทม.จะต้องดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในโครงการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานครดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการให้เอกชนร่วมงาน ตามประกาศของ สศช. ภายใต้พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 รวมทั้งการจัดทำเอกสารเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมงาน ได้แก่ ร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมงาน ร่างข้อกำหนดขอบเขตการร่วมงาน ร่างสัญญาการร่วมงาน การสนับสนุนการคัดเลือกและเจรจากับเอกชน ทั้งนี้การจ้างที่ปรึกษาแบ่งเป็นระยะที่ 1 จำนวน 48 ล้านบาท ระยะที่ 2 จำนวน 19 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 67 ล้านบาท และกทม.จะเร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน-1 ปี
เดินหน้าระบบขนส่งมวลชนระบบหลักและระบบรอง ในพื้นที่และนอกเขต กทม.
นายถนอม กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบหลักและรองในพื้นที่และนอกพื้นที่ กทม. 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 24.9 กิโลเมตร นอกพื้นที่ 8 กิโลเมตร สายแบริ่ง-สมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 19.6 ก.ม. กทม.จะขอรับทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ รฟม. ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเงินลงทุนคืนรัฐบาล จากสัญญาสัมปทานปีที่ 11-13 โดยมีระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ช่วง 10 ปีแรกของสัมปทาน และระบบไรท์เรล สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.3 กิโลเมตร นอกเขต 13.3 กิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการระบบขนส่งมวลชนระบบหลักมีการเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ อำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน กทม.จะดำเนินการระบบขนส่งมวลชนหลักส่วนต่อขยายสายสีเขียวตามแผนแม่บทฯ เพิ่มเติมจากมติ ครม. ปี 47 รวมถึงระบบขนส่งมวลชนระบบรอง ที่อยู่นอกพื้นที่ กทม. ด้วย โดยจะนำเสนอต่อสภา กทม. ขอความเห็นชอบในหลักการต่อไปในการประชุมสภา กทม. วันที่ 28 เม.ย. นี้