นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางแผ่ปกคลุมประเทศไทย ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุม ทำให้พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวม 52 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มีสภาพอากาศแปรปรวน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก ซึ่งอาจทำให้อาคารบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากพายุลมแรง พร้อมประสานผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบป้ายโฆษณาและสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง หากพบว่าไม่ปลอดภัยหรือติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัด รวมถึงตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่ที่ไม่แข็งแรงเพื่อป้องกันการโค่นล้มทับบ้านเรือนได้รับความเสียหาย หากเกิดสถานการณ์ภัยในพื้นที่ให้ดำเนินการตามขั้นตอนแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด พร้อมรายงานสถานการณ์ภัยและการให้ความช่วยเหลือให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทราบจนกว่าสถานการณ์ภัยจะสิ้นสุด
นายอนุชา กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 52 จังหวัดเตรียมความพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนและลูกเห็บตก โดยติดตามรับฟังข่าวพยากรณ์อากาศอย่างสม่ำเสมอ หากมีประกาศแจ้งเตือนให้เก็บสิ่งของที่สามารถปลิวไปตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด ตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณรอบบ้าน เพื่อป้องกันการโค่นล้มทับบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ส่วนเกษตรกร ให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายขณะเกิดพายุฤดูร้อน หลีกเลี่ยงการหลบพายุใต้ต้นไม้ ใกล้ป้ายโฆษณาหรือเสาไฟฟ้า เพราะอาจถูกล้มทับได้ รวมถึงไม่อยู่ใกล้วัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าและไม่สวมใส่เครื่องประดับ เช่น ทองคำ เงิน เป็นต้น งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะขณะพายุฝนฟ้าคะนอง อาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ สุดท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมปภ.