ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (“ศาลฎีกาฯ”) ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2553 ระหว่าง อัยการสูงสุด ผู้ร้อง กับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (ชินวัตร) ใช้ชื่อของนายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพินทองทา ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และบริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด (“ARI”) เป็นผู้ถือครองหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“SHIN”) แทนบุคคลทั้งสอง นั้น
สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ยึดถือตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ ดังกล่าว ประกอบกับมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากการตรวจสอบของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ปรากฏพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานเป็นเจ้าของที่แท้จริงของบริษัท วินมาร์ค จำกัด (“Win Mark”) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น SHIN ด้วย จึงเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่า ในระหว่างปี 2542 — 2549 หุ้น SHIN ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ถืออยู่ในนามบุคคลในครอบครัว ARI และ Win Mark มีการเคลื่อนไหวรวมกันข้ามผ่านทุกร้อยละ 5 ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วของบริษัท SHIN หลายครั้ง แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่รายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในวันทำการถัดจากวันที่ได้มาหรือจำหน่ายไป หรือรายงานข้อมูลเท็จ รวมทั้งไม่ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการเมื่อข้ามผ่านร้อยละ 50 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดด้วย
การกระทำของบุคคลดังกล่าวจึงเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 246 และมาตรา 247 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 298 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน และเนื่องจากเป็นกรณีที่มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทย ในวันนี้ (28 เมษายน 2553) สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานในกรณีความผิดดังกล่าว ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้รับเป็นคดีพิเศษและสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้แจ้งและประสานงานการส่งข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ ARI และ Win Mark ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (“ป.ป.ช.”) พิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรด้วยแล้ว