คสช. แนะรัฐบาลนำมติสมัชชาสุขภาพ แก้อุบัติเหตุ-ขับห้ามแอลกอฮอล์ในเลือดเป็น 0 มล.

จันทร์ ๒๖ เมษายน ๒๐๑๐ ๑๑:๔๑
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผลักดันมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนไปดำเนินการอย่างเข้มข้น จี้รัฐบาลห้ามผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทดื่มสุรา ท้าทายรัฐตั้งเป้าลดสถิติลง 50% ในปี 63 ด้าน ศวปถ.เผยตัวเลขอุบัติเหตุรถปิ๊กอัพแนวโน้มพุ่ง ขณะที่เยาวชนดื่มสุราขับรถจักรยานยนต์เสียชีวิตมากขึ้น แนะมาตรการแก้ปัญหาต้องทำต่อเนื่อง

นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552 เรื่อง “การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” ที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2553 ว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนนับเป็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนมากที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จะเห็นได้จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วัน ในเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุ 3,516 ครั้ง มีความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้ โดยประชาชนเสียชีวิตสูงถึง 361 คน บาดเจ็บ 3,802 คน แม้อัตราจะลดลงจากปีที่แล้ว แต่ก็ยังเป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทายต่อทุกภาคส่วนในการลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุบนถนนให้เหลือน้อยที่สุด

ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนถนนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง คิดเป็นอัตราผู้เสียชีวิตสูงถึงปีละ 17.7 คนต่อประชากรแสนคน ดังนั้นสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจากทั่วประเทศ จึงมีฉันทามติในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมกับทุกภาคส่วน ร่วมมือกันแก้ปัญหาจริงจังและต่อเนื่อง โดยมติสำคัญ คือ ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเป็นองค์กรหลักในการดำเนินงาน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดนโยบายและมาตรการ ให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ให้มีการสวมหมวกนิรภัยในขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ เสนอให้มีการเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะเป็นร้อยละ 30 ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเมืองในภูมิภาค และมาตรการที่สำคัญคือการลดระดับเพดานปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ยานพาหนะมีค่าไม่มากกว่า 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2554 และตั้งเป้าอุบัติเหตุและเสียชีวิตในปี 2563 ลดลงร้อยละ 50 ของอัตราที่เกิดในปี 2553

นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงร้อยละ 5 ด้วย 8 มาตรการเน้นหนัก เช่น ด้านการป้องปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ด้านการตรวจสอบความปลอดภัยของถนนและรถยนต์ ด้านการช่วยเหลือ กู้ชีพ กู้ภัย ด้านการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนัก เป็นต้น

ประกอบกับจากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2553 เป็นปีแห่งความปลอดภัยทางถนน กระทรวงคมนาคมจึงได้เพิ่มมาตรการในช่วงสงกรานต์ อาทิ การเข้มงวดกับผู้ขับรถโดยสารสาธารณะที่ต้องมีแอลกอฮอล์ = 0 mg/dl การกำหนดจุดพักรถทุก 200 กม. เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมรณรงค์เหมือนที่ผ่านมา และยังเพิ่มรูปแบบการรณรงค์ในรูปแบบอื่นเช่น โครงการฝากเหล้าไว้กับตำรวจของสำนักงานองค์กรงดเหล้า (สคล.) เป็นต้น ทำให้ภาพรวมของผู้เสียชีวิตปีนี้ ลดลง 3.22% จากในปี 2552 แม้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ก็สามารถลดความสูญเสียลงได้อย่างมหาศาล และหากพิจารณาจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 4 ปี ที่ผ่านมา จะพบว่าคงตัวอยู่ที่ 361-373 รายต่อปี หรือเฉลี่ย 52 ราย/วัน โดยมีแบบแผนของการเกิดอุบัติเหตุเหมือนเดิม ตั้งแต่ สาเหตุหลัก ยานพาหนะ ช่วงเวลา กลุ่มอายุ ฯลฯ แสดงให้เห็นว่ามาตรการที่ดาเนินการอยู่ไม่เพียงพอที่จะลดการเสียชีวิต” นายแพทย์ธนะพงศ์กล่าว

“นอกจากนั้นยังพบว่า การเสียชีวิตของผู้ขับขี่และโดยสารรถปิกอัพ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยในกลุ่มผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 58.6 มีความสัมพันธ์กับการดื่มสุรา ประเด็นที่น่าห่วงใย คือ เกือบ 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิต เป็นเด็กและเยาวชน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กและ เยาวชนเหล่านี้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหล่านี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 15 ปี (พบถึงร้อยละ 7.1) ซึ่งทางกฎหมายจะไม่อนุญาตให้กลุ่มนี้ขับขี่รถจักรยานยนต์ นอกจากนั้น ผู้เสียชีวิตร้อยละ 59.3จะเป็นผู้ขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ซึ่งใกล้เคียงกับสงกรานต์ปี 2552 (ร้อยละ 58.9) คู่กรณีที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจะเป็นรถปิกอัพเป็นส่วนใหญ่ และพบว่าเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 91) ไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัญหาการเกิดอุบัติเหตุยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยเรา และเชื่อมั่นว่าหากรัฐบาลดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ คสช. ให้ความเห็นชอบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะทำให้ปัญหานี้ลดลง และจะลดความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนและของประเทศลงได้อย่างแน่นอน” นายแพทย์ธนพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม

ประสานงาน : งานสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

พลินี เสริมสินสิริ (แตงโม) 02-590-2307

เขมวดี ขนาบแก้ว (ปูน) 02-590-2301

ธนิษฐ์ สุคนธนิกร (ต๊ะ) 02-590-2483

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชั้น 2 อาคาร 88/37 ติวานนท์ 14

ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี โทรศัพท์ 02-590-2307 , 02-590-2313

โทรสาร 02-590-2311 www.nationalhealth.or.th

ติดตามรับชมสถานีวิทยุและโทรทัศน์สุขภาพแห่งชาติ www.healthstation.in.th

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม