ธนายง เผยความคืบหน้าการเข้าซื้อกิจการ บีทีเอส ประกาศเข้าจดทะเบียนซื้อขายภายใต้หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ ภายใต้ชื่อ “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์”

ศุกร์ ๓๐ เมษายน ๒๐๑๐ ๐๙:๔๒
บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) เผยแผนการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (“BTSC”) ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว โดยคาดว่าการดำเนินการซื้อหุ้นสามัญของ BTSC จากผู้ถือหุ้น BTSC ในปัจจุบัน จะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคม พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)” และนำเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้หมวด “ขนส่งและโลจิสติกส์” กลุ่มอุตสาหรรมบริการ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างรายได้ใหม่ของกลุ่มบริษัทที่ส่วนใหญ่มาจากการดำเนินธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้า โดยคาดว่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ของบริษัทจะเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม ภายใต้ชื่อย่อใหม่ในการซื้อขายหลักทรัพย์ “BTS”

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท เปิดเผยถึงความคืบหน้าของแผนการเข้าซื้อกิจการของ BTSC ว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 ได้มีมติเห็นชอบในแผนดังกล่าว โดยคาดว่าการดำเนินการต่างๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาที่เกี่ยวข้อง และการซื้อหุ้น BTSC จะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ บริษัทจะดำเนินการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)” และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์") ภายใต้หมวด “ขนส่งและโลจิสติกส์” กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างรายได้ใหม่ของกลุ่มบริษัทที่ส่วนใหญ่มาจากการดำเนินธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้า โดยคาดว่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ของบริษัทจะเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม ภายใต้ชื่อย่อใหม่ในการซื้อขายหลักทรัพย์ “BTS”

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้บริษัทออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน มูลค่ารวมประมาณ 12,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนของหุ้นที่ถือ (Rights Offering) ภายหลังจากการเข้าซื้อหุ้นสามัญของ BTSC จำนวนดังกล่าว ในอัตราส่วน 7 หุ้นเดิม ต่อ 4 หุ้นใหม่ โดยเสนอขายที่ราคา 0.63 บาทต่อหุ้น ในกรณีที่มีหุ้นเหลือจากการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม บริษัทจะทำการจัดสรรหุ้นที่เหลือโดยเสนอขายแก่นักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง (Private Placement) ซึ่งหากมีการจองซื้อเต็มจำนวน บริษัทจะได้รับเงินเพิ่มทุนเป็นจำนวนเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะนำมาชำระคืนเงินกู้บางส่วน นอกจากนั้น เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนและเป็นการจูงใจในการจองซื้อหุ้น บริษัทจะดำเนินการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) โดยไม่คิดมูลค่า ให้แก่ผู้ลงทุนทุกรายที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าว ในอัตราส่วน 4 หุ้นเพิ่มทุนที่จองซื้อ ต่อ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยใบสำคัญแสดงสิทธิมีอายุ 3 ปี สามารถเริ่มใช้สิทธิครั้งแรกได้เมื่อครบ 2 ปี นับจากวันที่ออก มีราคาใช้สิทธิที่ 0.70 บาท ต่อหุ้น ทั้งนี้ นายคีรี และนายกวิน กาญจนพาสน์ ได้แสดงความประสงค์ที่จะจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วน เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท

“ภายหลังการเข้าซื้อหุ้นสามัญของ BTSC บริษัทจะมีขอบเขตการดำเนินธุรกิจและสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยบริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัทจะได้รับประโยชน์จากผลการดำเนินธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้าของ BTSC ซึ่งมีความมั่นคงและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าหลักทรัพย์ (Market Capitalization) และสภาพคล่องของหุ้นที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นและมีความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้นสำหรับนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนรายย่อย นอกจากนั้น บริษัทยังจะได้รับประโยชน์จากการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากการพัฒนาโครงการต่างๆ ร่วมกัน โดยการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ BTSC และประสบการณ์ในการพัฒนาและบริหารโครงการของบริษัท

“บริษัทจะมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจหลัก คือ (1) ธุรกิจดำเนินการระบบขนส่งมวลชน เช่น การให้บริการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส (2) ธุรกิจให้เช่าพื้นที่โฆษณา การบริหารจัดการด้านการตลาดเกี่ยวกับพื้นที่โฆษณา ทั้งภายในและพื้นที่รอบนอกขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงพื้นที่ร้านค้าและโฆษณาในบริเวณสถานีรถไฟฟ้า รวมถึงการโฆษณาในร้านค้าปลีกชั้นนำขนาดใหญ่ต่างๆ (3) ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่ติดกับสถานีรถไฟฟ้า หรือแนวทางเดินรถไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมไปถึงที่ตั้งอยู่นอกแนวรถไฟฟ้า และ (4) ธุรกิจให้บริการ เช่น ธุรกิจบริหารโรงแรม ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจสมาร์ทการ์ด ” นายคีรี กล่าวเสริม

สำหรับรายละเอียดภายใต้แผนการเข้าซื้อกิจการของ BTSC นั้น บริษัทจะซื้อหุ้นสามัญของ BTSC จาก Siam Capital Developments (Hong Kong) Limited, Keen Leader Investments Limited, และนายคีรี กาญจนพาสน์ รวมถึงจะซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมดจาก บริษัท สยาม เรลล์ ทรานสปอร์ต แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น BTSC ในปัจจุบัน จำนวนรวมประมาณ 15,022.33 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 94.60 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ BTSC คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 40,034.53 ล้านบาท โดยบริษัทจะชำระค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นเงินสดจำนวนประมาณ 20,655.71 ล้านบาท (ประมาณร้อยละ 51.59 ของค่าตอบแทน) และออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทอีกประมาณ 28,166.88 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 0.688 บาท คิดเป็นมูลค่า 19,378.81 ล้านบาท (ประมาณร้อยละ 48.41 ของค่าตอบแทน) เพื่อชำระค่าหุ้นแทนการชำระด้วยเงินสด ทั้งนี้บริษัทจะมีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน จำนวนรวม 22,000 ล้านบาท เพื่อใช้ชำระค่าหุ้นในส่วนที่เป็นเงินสด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

ภายหลังการเข้าซื้อหุ้นสามัญของ BTSC เสร็จสิ้น โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท จะมีการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ นายคีรี และนายกวิน กาญจนพาสน์ จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมร้อยละ 41.46 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท และมีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กองทุนที่บริหารโดย Ashmore Investment Management Limited และ กองทุนที่บริหารโดย Farallon Capital Management, L.L.C. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในปัจจุบันของ BTSC ทั้งนี้ ในอนาคต บริษัทยังมีแผนที่จะซื้อหุ้นสามัญของ BTSC จำนวนร้อยละ 5.4 จากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ ทั้งหมดของ BTSC โดยชำระค่าหุ้นด้วยการการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทให้ ในราคาไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 0.60 บาท

เกี่ยวกับบริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน)

ภายหลังการเข้าซื้อหุ้นสามัญของ BTSC บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) จะดำเนินการเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์เป็น “BTS” บริษัทจะประกอบธุรกิจหลักได้แก่ (1) ธุรกิจดำเนินการระบบขนส่งมวลชน (2) ธุรกิจให้เช่าพื้นที่โฆษณา และการบริหารจัดการด้านการตลาดเกี่ยวกับพื้นที่โฆษณา (3) ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ (4) ธุรกิจให้บริการ

ธุรกิจดำเนินการระบบขนส่งมวลชน ดำเนินงานและบริหารโดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิในการดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชน กทม. (“ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส”) แต่เพียงผู้เดียว โดยระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นระบบรถไฟฟ้าสายแรกในประเทศไทย เริ่มเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2543 มีเส้นทางที่ครอบคลุมพื้นที่เขตชั้นในย่านการค้าและธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ ปัจจุบันระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส มีขบวนรถไฟฟ้า 35 ขบวน มีจำนวนสถานีทั้งหมด 23 สถานี ให้บริการในสองเส้นทาง คือ สายสุขุมวิทและสายสีลม คิดเป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.5 กิโลเมตร นอกจากนี้ BTSC ได้รับจ้างกทม. เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีลม โดยมีสถานี 2 แห่ง บนระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ณ ปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2553 BTSC ให้บริการผู้โดยสารกว่า 144 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 10.5 นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ และในปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2553 มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันทำงานคิดเป็นจำนวน 451,393 คน นับจากเริ่มเปิดให้บริการ ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ให้บริการผู้โดยสารมากกว่า 1,155 ล้านเที่ยวคน

ธุรกิจให้เช่าพื้นที่โฆษณา ดำเนินการโดย กลุ่มวีจีไอซึ่ง BTSC ถือหุ้นร้อยละ 100 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการด้านการตลาดเกี่ยวกับพื้นที่โฆษณา ทั้งภายในและพื้นที่รอบนอกขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงพื้นที่ร้านค้าและโฆษณาในบริเวณสถานีรถไฟฟ้า รวมถึงการโฆษณาในร้านค้าปลีกชั้นนำขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น การบริหารพื้นที่โฆษณา และจอแอลซีดี ในห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส การบริหารพื้นที่โฆษณาในบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และคาร์ฟูร์ เป็นต้น

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น จะเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างบริษัทและบริษัทในกลุ่ม โดยใช้ประสบการณ์ของบริษัทที่สะสมมาจากการพัฒนาโครงการต่างๆ อาทิเช่น โครงการธนาซิตี้ โครงการโรงแรม ยู เชียงใหม่ และโครงการเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ เดอะรอยัลเพลส และเดอะแกรนด์ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ดินที่ BTSC ได้ดำเนินการซื้อไว้จำนวน 5 แปลง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงแรมระดับ 4 ดาว 1 แปลง อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการพัฒนาที่ดินเป็นอาคารชุดพักอาศัย 1 แปลง อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการพัฒนาที่ดินเป็นโรงแรม 5 ดาวอีก 2 แปลง ส่วนที่เหลืออีก 1 แปลง อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการพัฒนาที่ดินเป็นอาคารชุดพักอาศัยและอาคารสำนักงาน

ในส่วนธุรกิจให้บริการ บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ Absolute Hotel Services เพื่อให้บริการบริหารโรงแรม ซึ่งได้มีการเจรจาเพื่อบริหารโรงแรมอีก 38 แห่งภายใต้แบรนด์ U Hotel หรือแบรนด์อื่นๆ นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้บริหารโครงการโรงแรมโฟร์พอยท์ เชอราตัน (Four Points by Sheraton) ซึ่งเป็นโครงการโรงแรมระดับ 4 ดาว สูง 32 ชั้น จำนวนห้องพัก 437 ห้อง ตั้งอยู่ในศูนย์กลางธุรกิจบนถนนสาทร ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ มูลค่าโครงการประมาณ 2,200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้าง แล้วเสร็จในปี 2554 โดยบริหารโครงการในลักษณะสัญญาจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey) โดยขอบเขตการให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ การออกแบบ และการก่อสร้าง BTSC ยังได้จัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อให้บริการบัตรสมาร์ทการ์ดร่วมกันระหว่างระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสและระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และยังมีแผนจะเปิดให้ธนาคารพาณิชย์ ร้านค้า และบริษัทต่างๆ เข้าร่วมเพื่อให้บัตรเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และเพิ่มความสะดวกสบายกับผู้ใช้บัตร

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ: เวิรฟ

พรรณราย ทวีโชติกิจเจริญ โทร. 0-2204-8212

ประสิทธิ์ กฤษฎาอริยชน โทร. 0-2204-8216

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ