คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการไทยโชว์ เล่าที่มาของโชว์สัปดาห์นี้ว่า***
วงตุ๊บเก่ง หรือที่นักดนตรีชาวเพชรบูรณ์ เรียกว่า ตุ๊บเหม่ง ตามเสียงของเครื่องดนตรีกำกับจังหวะคือกลองสองหน้าที่ตีดัง “ตุ๊บ” ฆ้องกระแต ตีดัง “เหม่ง” กลายเป็นที่มาของวงตุ๊บเหม่ง และเพี้ยนเสียงมาเป็นตุ๊บเก่งในปัจจุบัน ซึ่งยังพอมีให้ได้เห็นได้ฟังบ้างในงานบุญและงานศพ นอกจากนั้นอาจได้เห็น วงตุ๊บเก่งอยู่ในขบวนแห่งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ เพชรบูรณ์ปีละครั้งเท่านั้น ถือว่าเป็นดนตรีเฉพาะถิ่นเมืองเพชบูรณ์ แถวบ้านสะเดียง บ้านป่าเลา และบ้านป่าแดง โดยเฉพาะที่บ้านป่าแดงนี้มีการสืบสานต่อลมหายใจให้วงตุ๊บเก่ง จากรุ่นครูผู้ใหญ่-นักดนตรีชาวบ้าน ถ่ายทอดให้เด็ก-เยาวชนคนรุ่นใหม่ ในหมู่บ้านป่าแดง อย่างเข้มข้นครับ
วงตุ๊บเก่ง มีนักดนตรี 5 คน ประกอบด้วยเครื่องดนตรี มีปี่แต้ 1 เลา คล้ายปี่ชวา, กลองสองหน้า 2 ลูก/ใบ, กระแต 1 ลูก/ใบ เป็นลูกฆ้องใบเล็ก และฆ้องโหม่งม๊ง 2 ลูก/ใบ ซึ่งรูปแบบดนตรีหรือการผสมวงของตุ๊บเก่ง มีลักษณะคล้ายกับวงบัวลอยของภาคกลาง และวงกาหลอของภาคใต้ ที่นิยมเล่นเฉพาะงานศพเช่นกัน ซึ่งผมคิดว่า วงตุ๊บเก่ง, วงบัวลอย และวงกาหลอ น่าจะมีมิติความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน อย่างน้อยบทเพลงหลายๆเพลงของทั้งสามวงที่กล่าวมานั้น เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเสียงเพลง ที่เชื่อว่าสามารถส่งผู้ล่วงลับให้ไปสู่สรวงสวรรค์ได้ หรือเพื่อสื่อสารกับสวรรค์ นั่นเองครับ
บทเพลงของวงตุ๊บเก่ง ที่คัดสรรมานำเสนอในรายการไทยโชว์ จะเริ่มต้นด้วยเพลงชุดครู(เพลงต้น, เพลงสามไม้ เพลงปลง และเพลงระย้า), เพลงเวียน, เพลงนกกะปูด, เพลงแกะชนกัน เพลงรำ เป็นต้น ซึ่งเป็นครั้งแรก ที่วงเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ จะเล่นโชว์ฝีไม้ลายมือพร้อมกับวงครูผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการการันตีว่า วงตุ๊บเก่ง จะไม่หายไปจากท้องถิ่นเมืองเพชรบูรณ์ ...ซึ่งต้องจับตาดูให้ดีในช่วงสนุกๆ อย่างเพลงแกะชนกัน ที่ผู้ใหญ่และเด็กจะเล่นสวมกันแบบท่อนต่อท่อน และเป็นเพลงพิเศษที่นักดนตรีจะตีกลองพร้อมใช้ไม้ตีขอบกลองดัง แก๊กๆ สร้างจินตนาการเหมือน “แกะชนกัน”จริงๆ ปิดท้ายโชว์อย่างงดงามตระการตาด้วย ระบำตุ๊บเก่ง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ครับ
สัมผัสสวรรค์บนดินถิ่นเมืองเพชรบูรณ์...ในจินตนาการเสียงเพลงจากวงตุ๊บเก่ง ในรายการไทยโชว์ เพราะเรา..ไม่อยากไม่ให้หายไป ตอน ตุ๊บเก่ง เพลงสวรรค์ป่าแดง วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2553 เวลา 18.00 น. ดูรายการย้อนหลังได้ทาง www.thaipbs.or.th/Thaishow
เป็นบทสัมภาษณ์ที่แสดงความคิดเห็นในฐานะนักวิชาการวัฒนธรรม โปรดอ้างอิงชื่อและนามสกุลผู้เขียน “คมสันต์ สุทนต์” ทุกครั้ง เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและมุมมองที่แตกต่างจากผู้อ่าน