นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... วันนี้ (4 พ.ค.) ว่า ครม. มีการนำความเห็นของคณะกรรมการ ปฏิรูปกฎหมายเข้าพิจารณาด้วย ซึ่งสิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะดำเนินการต่อไป คือการไปรับฟังความเห็น เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร
กรณีการกำหนดสถานที่ห้ามขัดขวาง หรือปิดกั้น ปิดล้อม เช่น โรงพยาบาล สถานศึกษา และอื่นๆ นั้น นพ.ชูชัย กล่าวว่า ต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง เบื้องต้นมีภาคีร่วมขับเคลื่อน คือ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
“การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยว กับร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพื่อจะดูและระดมความเห็นของสังคม ให้สังคมมาร่วมกันกำหนดกรอบกติกาว่า การชุมนุมในประเทศไทยควรเป็นอย่างไร หรืออาจมีการชุมนุมยาวนานก็ได้ แต่ต้องมีขอบเขตชัดเจน ล่วงล้ำเสรีภาพคนอื่นให้น้อยที่สุด”
นพ.ชูชัย กล่าว ถึงการชุมนุมครั้งนี้ทำคนเครียดทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งสุขภาพจิตสุขภาพร่างกาย สุขภาพทางสังคมปั่นป่วนไปหมด ซึ่งวัฒนธรรมการชุมนุมในประเทศไทยต่างจากสังคมอื่นๆ ที่เมื่อมีการชุมนุม ได้มาส่งเสียงแล้วจะกลับ ไม่มีการค้างคืนหรือชุมนุมเป็นแรมเดือน ถึงวันเวลาแล้วก็จะนัดมาใหม่ หากยังไม่ได้ผล ก็จะดูปฏิกิริยาของสังคม ที่สำคัญการชุมนุมต้องกระทบกระเทือนเสรีภาพของคนน้อยที่สุด มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกันพื้นที่ให้ ซึ่งแบบนี้จะไม่เป็นไร
ส่วนการกำหนดให้การชุมนุมสาธารณะต้องห่างจาก สถานที่ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระรัชทายาท กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า เรากำหนดว่า ห่างเกิน 500 เมตร ส่วนสถานที่ราชการอื่นๆ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ ห้ามไปปิดล้อมทางเข้าออก โดยเฉพาะโรงพยาบาลก็เป็นเรื่องที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไปด้วย ซึ่งก่อนหน้านั้นคาดไม่ถึงว่าโรงพยาบาลจะเจอสภาพแบบนี้
สำหรับเรื่องอื่นๆ เช่นจะยุติการชุมนุม หากผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก นพ.ชูชัย กล่าวว่า อาจต้องมีศาลปกครองมาเป็นผู้ชี้ขาด มิใช่ศาลแพ่งอย่างที่ทำอยู่เพราะนักกฎหมายบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ผิดหลักการมาก กรณีให้ศาลชี้ขาดต้องให้ศาลเป็นที่สุด หากผู้ชุมนุมไม่พอใจก็สามารถอุทธรณ์ได้ และต้องจบ
“การชุมนุมครั้งนี้ความชอบธรรมหมด ตรงที่ไปบุกรุกโรงพยาบาล ซึ่งก่อนหน้านี้ก็สะสมมาเป็นระยะๆ คนกรุงเทพอดทนพอสมควร ตั้งแต่การไปลากทหารบาดเจ็บลงมาทุบตี มีศพที่อยู่ในโรงพยาบาลนำออกมาแห่ประจาน และที่รับไม่ได้ คือการไปบุกโรงพยาบาล” นพ.ชู ชัย กล่าว และว่า ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ซึ่งคนไทยต้องมาร่วมกำหนดกรอบกติกาว่าจะเอาแค่ไหนอย่างไร ด้วยวัฒนธรรมของเราต่างจากที่อื่น จึงต้องทำเครื่องมือ นี้ให้ดี กฎหมายนี้ต้องส่งเสริมให้เกิดการชุมนุมสาธารณะที่สงบ ปราศจากอาวุธ คำนึงถึงเสรีภาพของบุคคลที่สาม ที่ไม่เกี่ยวกับการชุมนุม และหากมีช่องทาง หรือมีกลไกตอบสนอง สังคมก็จะสงบสุขมากขึ้น หากปล่อยไว้คนไม่ได้รับความเป็นธรรมมากๆ ขึ้นก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th