นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สศอ. เป็นผู้ริเริ่มจัดทำแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม (Productivity) พ.ศ. 2551-2555 โดยในปีงบประมาณ 2553 มีโครงการภายใต้แผนแม่บทฯ ได้รับอนุมัติงบประมาณประจำปี จำนวน 27 โครงการ วงเงิน 249.7 ล้านบาท และแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา 10 โครงการ วงเงิน 78 ล้านบาท โดยหลังจากเริ่มดำเนินโครงการมาครบรอบ 6 เดือน (ต.ค.2552-มี.ค.2553) ผลของการดำเนินงานรุดหน้าไปอย่างมาก หลายโครงการสามารถดำเนินงานได้เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แม้จะเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อผู้ประกอบการไทย
“โครงการภายใต้แผน Productivity ทั้ง 27 โครงการ สามารถวัดผลความสำเร็จ ณ 6 เดือน ได้ความคืบหน้าไปกว่า 43.72% สามารถพัฒนาบุคลากรได้แล้วจำนวน 7,166 คน จากเป้าที่ตั้งไว้ 19,015 คน ขณะที่ด้านการให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว 582 โรงงาน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 697 โรงงาน จึงมั่นใจได้ว่าเมื่อเสร็จสิ้นโครงการภายใต้ปีงบประมาณ 2553 จะสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย ซึ่งบางสาขาอุตสาหกรรมสามารถดำเนินโครงการได้ทะลุเป้าภายใน 6 เดือน ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของภาคอุตสาหกรรมไทย”
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า โครงการภายใต้แผน Productivity เป็นจุดเริ่มต้นที่ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่กระบวนการวินิจฉัยปัญหาผู้ประกอบการ เพื่อชี้ให้เห็นจุดบกพร่อง จากนั้นเป็นขั้นตอนการแก้ปัญหา ในช่วงปีแรกๆ ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจในแผนงานมากนัก บางรายถึงขั้นเกรงว่าข้อมูลจะรั่วไหลจึงไม่ให้ข้อมูล แต่สำหรับปี 2553 นี้ ผู้ประกอบการมีความเข้าใจมากขึ้น จึงทำให้สามารถดำเนินงานได้ราบรื่น เช่น ด้านการพัฒนาบุคลากร มีบุคลากรได้รับการพัฒนากว่า 7,166 คน จากทั้ง 27 โครงการ ประกอบด้วย บุคลากรทั้งในระดับช่างเทคนิค แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรม นักศึกษาจบใหม่ แรงงานอื่นที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรม รวมทั้ง สศอ.ได้จัดให้มีหลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งล้วนเป็นการเติมเต็มให้บุคลากรของภาคอุตสาหกรรมในแต่ละสาขามีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น
“สำหรับในส่วนของโครงการภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาทั้ง 10 โครงการ สามารถวัดผลความสำเร็จ ณ 6 เดือน มีความคืบหน้าไปกว่า 48.03% โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้ 14 ผลิตภัณฑ์
พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตได้ 4 เทคโนโลยี ขณะที่พัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูงถึง 153 คน พัฒนาโรงงานได้ 44 โรงงาน ซึ่งภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญานี้ โครงการส่วนใหญ่จะมีลักษณะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการยกระดับเทคโนโลยีการผลิต เช่น โครงการของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการฟอกย้อม ขณะนี้นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากสามารถดำเนินงานได้ทะลุเป้า โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้วเสร็จ 6 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาบุคลากร 60 คน มีโรงงานเข้าร่วมโครงการ 20 โรงงาน ขณะที่สาขาอื่นๆ ก็มีความตื่นตัวที่ใกล้เคียงกัน”