ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ “บ. ดั๊บเบิ้ล เอ (1991)” ที่ “BBB/Stable”

พฤหัส ๐๖ พฤษภาคม ๒๐๑๐ ๑๕:๕๗
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมชื่อ บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่เหลือจะนำไปซื้อคืนหุ้นทุนของบริษัท ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะของบริษัทในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษชนิดเยื่อใยสั้นและกระดาษพิมพ์เขียนของไทย รวมถึงการมีโรงงานที่มีประสิทธิภาพและมีการผลิตที่ครบวงจร ตลอดจนตราสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์กระดาษ “ดับเบิ้ล เอ” และโครงสร้างเงินทุนที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากราคาที่ค่อนข้างผันผวนในอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษแม้บริษัทได้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์บางประเภทจากสินค้าโภคภัณฑ์ให้เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งจากความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ความกังวลเกี่ยวกับการทำรายการระหว่างบริษัทกับบริษัทที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ตลอดจนความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจและแผนการลงทุนของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถคงระดับภาระหนี้สินและรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แม้ว่าแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจและแผนการลงทุนของบริษัทยังมีความไม่แน่นอน แต่ฐานะการเงินของบริษัทก็ไม่ควรจะถดถอยลงจากระดับปัจจุบันมากเกินไป นอกจากนี้ ยังคาดว่าเมื่อการปรับโครงสร้างธุรกิจเสร็จสมบูรณ์ บริษัทจะมีเพียงรายการระหว่างบริษัทและบริษัทที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นและสมเหตุสมผลเหลืออยู่เท่านั้น

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ เดือนมกราคม 2553 บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) มีกลุ่มตระกูลดำเนินชาญวณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 70.01% โดยบริษัทได้ถอนการจดทะเบียนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 หลังจากที่นายโยธิน ดำเนินชาญวณิชย์สามารถซื้อหุ้นของบริษัทได้ในสัดส่วน 78.52% หลังจากนั้น ผู้บริหารก็ได้วางแผนปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทโดยการขายโรงไฟฟ้าจำนวน 3 โรง รวมทั้งลงทุนในโรงงานผลิตกระดาษโรงที่ 3 และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาคในปี 2552 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยจึงส่งผลทำให้แผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทต้องล่าช้าออกไป ในช่วงกลางปี 2552 บริษัทได้ขายธุรกิจไฟฟ้าซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าโรงที่ 5 โรงที่ 6 และโรงที่ 11 ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องในราคารวมสุทธิ 3,800 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทยังมีแผนจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อทำหน้าที่ถือหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทและอาจซื้อกิจการของบริษัทลูกแห่งอื่นๆ เช่น บริษัท แอดวานซ์ เปเปอร์ มิลล์ 3 จำกัด และ บริษัท ดีเอ แพ็คเก็จจิ้ง จำกัด โดยคาดว่าจะนำบริษัทโฮลดิ้งดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศและลงทุนในโรงงานกระดาษโรงที่ 3 แทนบริษัท อย่างไรก็ตาม กำหนดเวลาในการนำบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รวมถึงแผนการลงทุนยังมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ บริษัทยังได้ซื้อที่ดินจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง 2 ราย คือ บริษัท ไทย เพาเวอร์ เจนเนอเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ไฟฟ้าชีวมวล จำกัด เพื่อใช้สร้างอ่างเก็บน้ำของตนเองด้วย ธุรกรรมดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากบริษัทบัญชีแห่งหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งระบุว่าราคาซื้อที่ดินดังกล่าวอยู่ในช่วงระดับเทียบเท่ากับราคาที่ดินในบริเวณใกล้เคียง (ระหว่าง 0.3-2 ล้านบาทต่อไร่) ตามประกาศของกรมธนารักษ์ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีประเด็นกังวลว่าที่ดินที่ซื้อมาในราคารวมกันจำนวน 1,860.1 ล้านบาทนั้นสูงกว่าราคาประเมินที่กระทำโดยผู้ประเมินอิสระที่จำนวน 292.9 ล้านบาทค่อนข้างมาก จึงทำให้มีข้อสงสัยในเรื่องความเหมาะสมของรายการระหว่างกันดังกล่าวแม้การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำของบริษัทจะช่วยลดการทำธุรกรรมกับบริษัทที่เกี่ยวข้องลงในอนาคตก็ตาม

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เป็นผู้นำในการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศไทยโดยเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจำนวน 2 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 620,486 ตันต่อปี และมีเครื่องจักรผลิตกระดาษจำนวน 3 ชุดซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 552,858 ตันต่อปี เยื่อกระดาษที่ผลิตได้ประมาณ 70%-80% นั้นบริษัทนำมาใช้เพื่อการผลิตกระดาษ และส่วนที่เหลือส่งจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รายได้จากการขายกระดาษในปี 2552 คิดเป็น 90.43% ของรายได้รวมของบริษัท (ไม่รวมรายได้จากการขายไฟฟ้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2552) ส่วนรายได้ที่เหลือมาจากการขายเยื่อกระดาษ บริษัทเป็นผู้ส่งออกเยื่อใยสั้นรายสำคัญในประเทศ โดยคิดเป็นจำนวนส่งออก 82,856 ตันในปี 2551 และ 71,304 ตันในปี 255 2 ปริมาณเยื่อกระดาษที่ส่งออกในปี 2552 ลดลง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่มูลค่าที่ได้รับจากการขายลดลงกว่า 37% เนื่องจากราคาเยื่อกระดาษในปี 2552 ปรับลดลงมากกว่า 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยราคาเยื่อกระดาษมีความผันผวนค่อนข้างมากตามลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไป

ในส่วนของผลิตภัณฑ์กระดาษนั้น บริษัทเน้นที่กระดาษพิมพ์เขียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ราคากระดาษพิมพ์เขียนโดยเฉพาะแบบแผ่นนั้นค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับราคาเยื่อกระดาษ ดังนั้น ในปี 2552 รายได้จากการจำหน่ายกระดาษจึงลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายที่ลดลงประมาณ 7% เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงจากวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งทำให้บริษัทต้องให้ความสำคัญในเรื่องต้นทุนการผลิตมากกว่าปริมาณการผลิต แม้ว่ารายได้จากการจำหน่ายเยื่อและกระดาษในปี 2552 จะลดลง 12% แต่กำไรของบริษัทยังคงปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทสามารถคงราคาขายของกระดาษเอาไว้ได้ในขณะที่ราคาของไม้สับซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักปรับลดลงเกือบ 27% ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาปรับเพิ่มขึ้นจาก 14.9% ในปี 2551 เป็น 23.4% ในปี 2552 โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถคงอัตรากำไรไว้ที่ระดับดังกล่าวต่อไปได้เนื่องจากบริษัทได้เริ่มปลูกสวนป่าของตนเองและซื้อไม้โดยตรงจากผู้ปลูก อย่างไรก็ตาม การจัดหาวัตถุดิบเองดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นซึ่งต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ว่าบริษัทจะสามารถคงอัตรากำไรไว้ที่ระดับดังกล่าวต่อไปในอนาคตได้หรือไม่

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ณ สิ้นปี 2552 บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) มีหนี้จำนวน 10,903 ล้านบาท ลดลงจาก 12,038 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 โดยมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นในสัดส่วนประมาณ 44% ของหนี้สินรวม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้การค้า ในขณะที่เงินกู้ระยะยาวส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ระยะยาวชนิดไม่ด้อยสิทธิสกุลดอลลาร์สหรัฐอัตราดอกเบี้ย 11% ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2555 ด้วยมูลค่าคงเหลือ 144.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2552 ในเดือนพฤศจิกายน 2552 บริษัทได้ทำคำเสนอขอซื้อคืนหุ้นกู้ดังกล่าวจำนวน 51.02% ของหุ้นกู้คงค้างจากผู้ถือหุ้นกู้ และ ในวันที่ 2 มีนาคม 2553 บริษัทก็สามารถซื้อคืนหุ้นกู้ดังกล่าวได้ในจำนวน 40.765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 บริษัทได้ประกาศว่าบริษัทจะไถ่ถอนหุ้นกู้ส่วนที่เหลือทั้งหมดในวันที่ 19 มิถุนายน 2553 โดยราคาไถ่ถอนจะอยู่ที่ 105.625% ของยอดเงินต้นบวกดอกเบี้ยสะสมและดอกเบี้ยค้างจ่ายจนถึงวันไถ่ถอนแต่ไม่รวมวันไถ่ถอน นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนในการซื้อคืนหุ้นทุนของบริษัทอีกจำนวน 111 ล้านหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่นด้วย ซึ่งแผนการซื้อคืนหุ้นกู้และหุ้นทุนอาจทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะใกล้ โดย ณ สิ้นปี 2552 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 45.04%

บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน)

อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 BBB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม