นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการการคลัง เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2553 ว่ากระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการดำเนินการเชื่อมโยงระบบ e-LAAS (Electronic Local Administrative Accounting System) เข้าสู่ระบบ GFMIS เพื่อให้ครอบคลุมถึงการเบิกจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องนี้ได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลาง ดำเนินการเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระบบการเบิกจ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับระบบ GFMIS เพื่อให้สามารถบริหารจัดการด้านงบประมาณของประเทศได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยระบบดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เป็นระยะแรกได้เริ่มทดลองระบบกับจังหวัดนำร่องที่มีความพร้อมก่อน 3 จังหวัด คือ จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรสาคร ก่อน เพื่อจะได้ทราบว่าจะพบปัญหาอุปสรรคในขั้นตอนการปฏิบัติงานจริงหรือไม่ และหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขได้ก่อนปฏิบัติงานจริงทั่วประเทศ
การเชื่อมโยงระบบดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการด้านงบประมาณของแผ่นดินเป็นอย่างมาก รัฐบาลสามารถโอนเงินงบประมาณสู่ อปท. ต่าง ๆ ทั้งประเทศกว่า 8,000 แห่งโดยตรง สามารถแสดงรายงานการเงินการคลังของประเทศในภาพรวม และเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศลงถึงระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ การเบิกจ่ายที่ถูกต้อง ตรงเวลา ตลอดจนลดปัญหาการซ้ำซ้อนของงาน ช่วยให้เงินถึงระดับท้องถิ่นได้อย่างรวมเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้
การเชื่อมโยงระบบ e-LAAS เข้าสู่ระบบ GFMIS จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2554 สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการเบิกจ่ายเงินของ อปท.กว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ
นายพฤฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “งบประมาณของท้องถิ่นที่มีจำนวนมาก อาทิ 4.3 แสนล้านบาทในปี 2554 ที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายที่ล่าช้า งานซ้ำซ้อน ยากในการติดตาม และตรวจสอบ บ่อยครั้งที่ขาดความโปร่งใส ซึ่งระบบงานใหม่ถือว่าเป็นการยกเครื่องการเบิกจ่ายครั้งใหญ่ของประเทศให้รวมการเบิกจ่ายของท้องถิ่น ช่วยการเร่งรัด ติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณของ อปท. ให้ดีขึ้น ลดความซ้ำซ้อน ลดความล่าช้า และที่สำคัญสร้างความโปร่งใสในการเบิกจ่าย”
รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปีงบประมาณ 2551 — 2554 (ล้านบาท)
' 2551 2552 2553 2554
1. รายได้ที่ อปท. จัดหาเอง 35,223 38,746 29,110 38,746
2.ภาษีอากรที่รัฐบาลเก็บให้ 128,676 140,679 126,590 148,109
3.ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลแบ่งให้ 65,000 71,900 45,400 70,500
4. เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 147,840 163,057 139,895 173,900
รายได้รวมของ อปท. 376,740 414,382 340,995 431,255
ที่มา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง