SCB EIC ชี้การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านต้องพิจารณาเฉพาะด้านที่สำคัญไม่ควรนิ่งนอนใจ ก่อนจะถูกประเทศอื่นแซงหน้าไปมากกว่านี้

พุธ ๑๒ พฤษภาคม ๒๐๑๐ ๑๒:๑๗
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากความคืบหน้าของการเจรจาภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) และการดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจในการเลือกแหล่งผลิตและตลาดส่งออกได้อย่างเสรีมากขึ้นภายในภูมิภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Economic Intelligence Center: SCB EIC) จึงได้วิเคราะห์ในเชิงลึกถึงโอกาสของไทยในประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พม่า และเวียดนาม หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งนี้พบว่าการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มประเทศนี้ จำเป็นต้องพิจารณาลงไปเฉพาะด้าน เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีขนาดเล็ก และมีความเสี่ยงสูงด้านมหภาค อย่างไรก็ตามเราไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือปล่อยให้ประเทศคู่แข่งอื่นๆ แซงหน้าไป

“เราพบว่ามีโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV แต่ก็ยังไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมยังมีขนาดเล็ก แม้แต่เวียดนามที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มก็ยังมีขนาดเศรษฐกิจเพียงหนึ่งในสามของไทย ส่วนขนาดเศรษฐกิจของกัมพูชานั้นยังเล็กกว่าของจังหวัดชลบุรี ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของสปป.ลาวก็เล็กกว่าของจังหวัดปทุมธานี”

ดร. เศรษฐพุฒิกล่าว

เราจึงต้องพิจารณาถึงโอกาสที่แตกต่างกันทั้งในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากรและกลุ่มรายได้ ตลอดจนทิศทางของรูปแบบการบริโภคที่ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ซึ่งย่อมมีผลต่อความต้องการสินค้าและบริการ จากการจำลองรูปแบบการบริโภคของ SCB EIC พบว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เวียดนามจะมีกลุ่มประชากรที่มีรายได้ปานกลางระดับล่างขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจากเกือบ 3% เป็นประมาณ 12% ดังนั้น การบริโภคที่ผูกติดกับระดับรายได้ของคนกลุ่มนี้จึงน่าจะเติบโตสูงที่สุด สำหรับตัวอย่างอื่นๆ ของธุรกิจที่น่าจะตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของประชากรและอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจด้านอินเตอร์เน็ตในกัมพูชาและโทรศัพท์มือถือในพม่า เป็นต้น นอกจากนี้ หากเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ จะนำไปสู่โอกาสการส่งออกผลไม้กระป๋อง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้า

สำหรับด้านการผลิต การย้ายฐานเพื่อลดต้นทุนก็อาจทำได้ จากการประเมินตัวอย่างกิจการผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่งของไทย พบว่าหากบริษัทดังกล่าวย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามจะมีกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ด้วยต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ ยังมีโอกาสใช้ความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจท่องเที่ยวในทุกประเทศกลุ่ม CLMV โดยเห็นได้จากอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวเฉลี่ยสะสมในช่วงปี 2004-2008 ของกัมพูชาและสปป.ลาวอยู่ที่ 19% และ 34% ต่อปี เทียบกับของไทยที่เติบโตเพียง 6%

แม้ไทยจะมีบทบาทสำคัญทางการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV โดยส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมัน เครื่องมือเครื่องจักร และยานยนต์สูงเป็นลำดับต้น ๆ ในประเทศ CLMV และเป็นแหล่งสินค้านำเข้าที่สูงที่สุด ของกัมพูชาและสปป.ลาว อีกทั้งมีบทบาทการลงทุนโดยตรงในสปป.ลาว และพม่า “แต่บทบาทของไทยได้ถูกหลายประเทศแซงหน้าไปแล้ว เช่น มาเลเซียมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงในเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 4 เท่าในปี 2008 ขณะเดียวกันนักลงทุนจากเวียดนามซึ่งเดิมแทบไม่มีบทบาทในกัมพูชา แต่ปัจจุบันก็แซงหน้าไทยไปแล้วเช่นกัน เราจึงไม่ควรนิ่งนอนใจว่าคู่แข่งของเรามีเพียงบริษัทท้องถิ่น” การแข่งขันที่สูงมากในปัจจุบัน ทำให้ต้องตระหนักถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้าน แทนที่จะปล่อยให้ประเทศผู้ลงทุนอื่นๆ แซงหน้าไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตามยังคงมีความท้าทายในการลงทุนในประเทศเหล่านี้ แม้แต่เวียดนามซึ่งมีอันดับดีที่สุดในกลุ่มประเทศ CLMV ในแง่ของ “ความสะดวกในการทำธุรกิจ” จากข้อมูลของธนาคารโลกและบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ แต่ก็ยังถือว่ามีอันดับรวมที่ต่ำคือ อันดับที่ 93 จากทั้งหมด 183 ประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นในด้าน “การคุ้มครองนักลงทุน” เวียดนามก็จัดอยู่ในอันดับท้ายๆ คืออันดับที่ 172 ในขณะที่สปป.ลาว ครองอันดับรองสุดท้ายคืออันดับที่ 182 นอกจากนี้ในทุกประเทศยังคงมีความเสี่ยงสูงด้านเศรษฐกิจมหภาค ดังจะเห็นได้จากดัชนีชี้วัดสำคัญต่างๆ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงมาก ไล่จากสปป.ลาว ที่ -6.6% ของ GDP ไปจนถึง -11.5% และฐานะการคลังที่อ่อนแอจากการขาดดุลงบประมาณสูง เช่น กัมพูชา (-6.0% ของ GDP) และเวียดนาม (-9.7% ของ GDP)” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวสรุป

ติดตามรายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมได้ใน SCB Insight เรื่อง “โอกาสสำหรับธุรกิจไทยในประเทศเพื่อนบ้านอยู่ที่ไหนบ้าง" สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953 อีเมล [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version