โลกร้อนทำพิษ ส่งผลน้ำทะเลร้อน ปะการังตาย ทช.วอนหยุดดำน้ำชั่วคราว ลดรบกวนปะการัง

พุธ ๑๒ พฤษภาคม ๒๐๑๐ ๑๖:๔๒
อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูง ส่งผลให้ปะการังฟอกขาวเป็นบริเวณกว้าง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและ อันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งวอนนักท่องเที่ยวงดดำน้ำ ลดการรบกวนปะการัง ให้เวลาฟื้นตัว

นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน จนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 6 สัปดาห์แล้วที่ปะการังบริเวณความลึกไม่เกิน 20 เมตรทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ได้รับความร้อนทั้งจากแสงแดดโดยตรงและจากอุณหภูมิของน้ำที่เพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุให้ปะการังอ่อนแอลง และในบางพื้นที่ปะการังได้รับความเสียหายจนตายในที่สุด ซึ่งโดยปกติปะการังสามารถดำรงชีวิตได้ในที่ที่อุณหภูมิน้ำทะเลอยู่ในช่วง 20 — 30 องศาเซลเซียส แต่หากอุณหภูมิน้ำทะเลมีการเปลี่ยนแปลงจากปกติ เช่น อุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิสูงสุดที่ปะการังสามารถอยู่ได้ตามปกติเพียง 1 — 2 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลานาน ปะการังจะขับสาหร่ายซูแซนเทลลี่ที่เป็นส่วนหนึ่งของปะการังออก ดังนั้นเมื่อไม่มีสาหร่ายชนิดดังกล่าว เราจึงสามารถมองผ่านเนื้อเยื่อใสของปะการังลงไปจนเห็นสีขาวของโครงสร้างหินปูน ซึ่งเราเรียกปรากฎการณ์เช่นนี้ว่าปะการังฟอกขาว

“ที่ได้รับรายงานว่าปะการังฟอกขาวเป็นวงกว้างแล้วคือบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลัน ส่วนบริเวณใกล้ชายฝั่งของเกาะภูเก็ตพบว่าปะการังมีความเสียหายมากที่สุด รองลงมาคือเกาะบริเวณจ.ตรัง กระบี่ สตูลและชุมพรที่อุณหภูมิของน้ำเพิ่มขึ้นถึง 32 องศาเซลเซียส” นายวรรณเกียรติ กล่าว

ทางด้านนายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ขณะนี้ ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวกำลังเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลก อาทิ มหาสมุทรแปซิฟิค ทางตอนใต้ของอินเดียและศรีลังกา ทางตะวันออกของอัฟริกา บริเวณใกล้เกาะมาดากัสการ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วเมื่อปี 2534 และปี 2538 ซึ่งนับว่าเป็นการฟอกขาวของปะการังครั้งใหญ่ที่ปะการังเกือบทุกแห่งมีการฟอกขาว และตายเยอะ จนในขณะนี้ก็ยังได้รับการฟื้นฟูไม่หมด ต่อมาอีกครั้งในปี 2546 แต่ครั้งนั้นปะการังสามารถฟื้นตัวได้เร็วเนื่องจากน้ำทะเลได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ช่วยให้อุณหภูมิของน้ำทะเลลดลง

“หากภายใน 2 — 3 อาทิตย์ต่อจากนี้ ยังไม่มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน ก็จะทำให้ปะการังตายเพิ่มมากขึ้น แม้ขณะนี้จะมีการประกาศปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่งแล้วก็ตาม แต่ทะเลบริเวณนอกเหนือจากอุทยานแห่งชาติ ฯ ก็ต้องได้รับการดูแลเช่นกัน จึงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว นักดำน้ำงดกิจกรรมดำน้ำในทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันเป็นการชั่วคราว เพื่อลดการรบกวนปะการัง และปล่อยให้ปะการังมีเวลาฟื้นตัวให้สมบูรณ์ดังเดิม” นายนิพนธ์ กล่าวในที่สุด

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ