นายสมชาย ตรีรัตนนุกูล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม และอินเตอร์เน็ตในประเทศ และระหว่างประเทศ ในเครือจัสมินกรุ๊ป เปิดเผยว่า หลังจากที่จัสเทลฯได้รับใบอนุญาตสร้างโครงข่ายเกตเวย์เชื่อมต่อในภูมิภาค เพื่อดำเนินการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นไอซีทีฮับ จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา หลังจากนั้น จัสเทลฯได้มุ่งมั่นและพยายามอย่างมากในการที่จะผลักดันโครงการดังกล่าวให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งขณะนี้จัสเทลฯ ประสบผลสำเร็จอีกก้าว ด้วยความพร้อมที่จะเปิดให้บริการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างประเทศ จากไทย-กัมพูชา-เวียดนาม-จีน และฮ่องกง เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเส้นทาง ส่วนเส้นทาง ไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน-ฮ่องกง และไทย-พม่า-บังคลาเทศ-อินเดีย-จีน นั้น จัสเทลฯ พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในครึ่งปีหลังอย่างแน่นอน
จากสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและแผนการลงทุนของจัสเทลฯ แต่อย่างใด โดยจัสเทลฯ ยังคงเดินหน้าลงทุนขยายโครงข่ายเกตเวย์ต่างประเทศต่อเนื่อง มูลค่าประมาณ 500-600 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการช่องสัญญาณต่างประเทศของไทยที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวในทุกปี รวมถึงในปีนี้การลงทุนขยายเกตเวย์ไปยัง กัมพูชา-พม่า-ลาว ตามโครงการปั้นไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีของภูมิภาคด้วย ทั้งนี้ จัสเทลฯ ได้คาดการณ์ไว้ว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยให้รายได้ของจัสเทลฯ ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50% หรือมีรายได้รวมประมาณ 1,200 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 810 ล้านบาท นายสมชายกล่าว
ด้านนายวิทยา ลักษวุธ ผู้อำนวยการธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการปั้นประเทศไทยเป็นไอซีที อินโดไชน่าฮับ เป็นโครงการที่ จัสเทลฯ มองเห็นโอกาสตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว และในที่สุดก็สามารถเดินหน้าผลักดันจนโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จได้ในปีนี้ โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหลายหน่วยงาน อาทิ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และยกระดับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและไอซีทีของภูมิภาค ซึ่งจัดได้ว่าเรายังล้าหลังกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ อีกมาก ส่วนประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากการให้บริการอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ เกตเวย์ แก่ประเทศเพื่อนบ้าน และช่วยให้ประเทศไทยมีเส้นทางสำรองในการเชื่อมต่อออกไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกได้หลายเส้นทาง และในราคาต้นทุนที่ถูกลงอีกด้วย นายวิทยากล่าวในที่สุด.