จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. ภายหลังจากที่นายวิชัยได้มาสารภาพความผิดต่อ ก.ล.ต. พบว่า นายวิชัยกระทำผิดหน้าที่ โดยทุจริต เบียดบัง ยักยอกทรัพย์สินของบริษัทมาเป็นของตนเองและบุคคลอื่น กล่าวคือ นายวิชัยได้ปลอมแปลงเอกสารในการสั่งซื้อหลักทรัพย์ เพื่อลวงให้บริษัทจ่ายเงินออกจากบัญชีให้แก่ตนเองและบุคคลอื่น และได้ยักยอกหลักทรัพย์ของบริษัทไปเป็นของตน รวมทั้งยักยอกเงินค่าขายหน่วยลงทุนของบริษัทไปเป็นของตน ซึ่งทำให้ได้รับประโยชน์เป็นเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 179.6 ล้านบาท จนทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย การกระทำของนายวิชัยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 มาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 และมาตรา 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
ก.ล.ต. ยังตรวจพบว่า นายวิชัยปลอมแปลงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท ทำให้บัญชีของบริษัทแสดงเงินลงทุนในหลักทรัพย์และบัญชีรายได้ไม่ตรงกับความเป็นจริงเพื่อลวงบุคคลอื่น ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้สั่งให้บริษัทจัดให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) โดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เพื่อให้แน่ใจว่า งบการเงินของบริษัทแสดงฐานะการเงินที่แท้จริง และไม่มีรายการอื่นที่เป็นการทุจริตที่จะกระทบต่อสิทธิของผู้ลงทุน โดยบริษัทจะต้องนำส่งรายงานการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษต่อ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2553 พร้อมทั้งเผยแพร่ผลการตรวจสอบดังกล่าวผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ การที่นายวิชัยอยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษดำเนินคดีโดย ก.ล.ต. เพราะเหตุทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์ดังกล่าว ทำให้นายวิชัยเข้าข่ายเป็นบุคคลที่มีลักษณะขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้น ตามข้อ 4(3) ของประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 8/2553 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ลงวันที่ 23 เมษายน 2553 และมีผลให้นายวิชัยต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทจดทะเบียนและจะดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทต่อไปมิได้ตามนัยมาตรา 89/4 และมาตรา 89/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ด้วย ดังนั้น ก.ล.ต. จึงไม่อาจแสดงชื่อของนายวิชัยในระบบข้อมูลรายชื่อผู้บริหารบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษ