“ในอนาคตอันใกล้นี้ การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะตลาดภายในประเทศเท่านั้น แต่จะขยายไปในตลาดระดับอาเซียน เนื่องจากมีข้อตกลงการเปิดตลาดการค้าเสรีในกลุ่มประเทศอาเซียน หรืออาจจะขยายไปถึงตลาดในภูมิภาคอื่นๆ โดยจะครอบคลุมในทุกภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการทุกภาคอุตสาหกรรมต่างเล็งเห็นช่องทางที่จะเข้ามาทำธุรกิจแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจที่มีความสะดวกรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวไปสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น ก็เพราะประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านโลจิสติกส์ โดยโครงสร้างพื้นฐานของไทยนั้นมีศักยภาพทั้งทางด้านการขนส่ง การพัฒนาศักยภาพทางด้านการเงิน กำลังคนทางด้านไอซีทีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วย” นางสาวลัดดา กล่าว
สำหรับตลาดในประเทศนั้น การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่นิยม รวมถึงไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันก็มีปัญหาที่ผู้ซื้อใช้ข้อมูลปลอมในการสั่งซื้อสินค้า หรือจองแล้วไม่ชำระเงินด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมีการออกกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าตลาดเพิ่มมากขึ้นได้
“ภาครัฐได้ให้การส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งการดำเนินนโยบาย มาตรการ กลไกต่างๆ ให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในการนำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการทำธุรกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีให้รองรับการค้าในเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การจัดตั้งระบบ National Root CA การวางมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย พร้อมกันนี้ยังมีการเร่งพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายลำดับรองที่ออกภายใต้ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาบุคลากรอย่างมีระบบและต่อเนื่อง โดยพัฒนากำลังคนและฝีมือแรงงานในสาขาต่างๆ ให้ตรงกับตลาดแรงงานและความต้องการ” นางสาวลัดดา กล่าว
นอกจากนั้นภาครัฐยังจะส่งเสริมให้มีการสร้างความเข้าใจ โดยเร่งรณรงค์ให้องค์กรธุรกิจ ประชาชน และหน่วยงานของรัฐเข้าใจและเห็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจะช่วยทำให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศในด้านการเงินหรือการซื้อขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นได้ รวมทั้งยังมีการออกมาตรการกำกับดูแล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนมีการสนับสนุนการวิจัยพัฒนานวัตกรรมรวมถึงธุรกิจใหม่ๆ และการสร้างฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประโยชน์ในการสั่งสมความรู้ด้านต่างๆ
“แนวทางการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้เวลา งบประมาณ และบุคลากรในการผลักดันและดำเนินการ รวมทั้งต้องได้รับความร่วมมือและทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการ เพื่อเป้าหมายที่จะให้มีระบบ e-Commerce ของไทยที่เข้มแข็ง สามารถแข่งขันในเวทีระดับประเทศได้” นางสาวลัดดา กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT