ดร.ปรางทิพย์ ยุวานนท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต สาขาธุรกิจการกีฬาและการบันเทิง มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า ธุรกิจการกีฬาและบันเทิงในไทยมีการขยายตัวและมีทิศทางที่สดใส ทำให้ปีนี้เนื้อหาหลักสูตรของสาขาธุรกิจการกีฬาและบันเทิง จึงมีความเข้มข้นมากขึ้นทั้งทางด้านทฤษฎีการตลาดและการปฏิบัติให้เกิด Impact การจัดงาน มีความน่าสนใจสำหรับผู้เข้าแข่งขัน ผู้เข้าชม และประชาชนทั่วไป
ปัจจุบัน Event Organizer เฉพาะด้านการจัดงานกีฬาในเมืองไทยยังไม่มี เป็นลักษณะการใช้ Organizer ทั่วๆ ไป ทำให้รูปแบบการจัดงานจึงไม่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง ยังขาดการสร้างบรรยากาศของความรู้สึกร่วม ความสนุกสนาน ความบันเทิงในการรับชม ที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยหลักการ How To อย่างไรให้ผู้เข้าชมไม่เกิดความเบื่อหน่ายเมื่อพักครึ่งการแข่งขัน การจำหน่ายตั๋วเข้าชม การมีซุ้มของที่ระลึกของการแข่งขันในสนามนั้นๆ มีวิธีการอย่างไร ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวจะถูกเน้นอยู่ในหลักสูตรธุรกิจการกีฬาและบันเทิงในปีนี้
อุตสาหกรรมกีฬาและบันเทิงซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าล้านล้านดอลล่าร์ทั่วโลก และมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนในประเทศไทยที่ผ่านมามีการจัดประชุม สัมมนาทั้งด้านการกีฬาและการบันเทิงระดับนานาชาติ การเสนอตัวขอรับเป็นเจ้าภาพ และได้รับเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาและการบันเทิงระดับนานาชาติอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง
การสร้างสินค้าให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างไร นั่นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะถูกบรรจุในหลักสูตรฯ เพื่อเสริมความเข้มข้นด้านเนื้อหาให้นักศึกษาได้เข้าถึง และเข้าใจถึงกระบวนการจัดงานแข่งขันกีฬาต่างๆ อันเป็นไปตามจุดมุ่งหมายหลักของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่ต้องการสร้างผู้ประกอบการและพัฒนาผู้บริหารรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ความชำนาญทางด้าน "ธุรกิจการกีฬาและการบันเทิง" อย่างเป็นรูปธรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในอดีต มหาวิทยาลัยศรีปทุม ถือได้ว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะนักกีฬาระดับชั้นแนวหน้าของประเทศไทย และยังได้สร้างความตื่นตาตื่นใจจนได้รับความชมเชยอย่างมาก ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 30 "ศรีปทุมเกมส์" จนเป็นที่กล่าวขานและเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของสถาบัน
นอกจากนี้ยังเป็นการเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจเอกชนและสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พ.ศ.2551-2554 และเสริมศักยภาพของวงการกีฬาไทยตามยุทธศาสตร์ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่า หลักสูตรนี้เป็นกลยุทธ์ที่จะสร้าง Sports ให้เป็น Sports Entertainment อย่างเป็นระบบและมาตรฐานแบบมืออาชีพให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการกีฬาและการบันเทิงของประเทศไทยมีศักยภาพสูงสุด เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จและยั่งยืนในระดับสากลต่อไป
ดร.ปรางทิพย์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันมีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในหลักสูตรธุรกิจการกีฬาและบันเทิง แบ่งเป็นปริญญาโท 15 คน ปริญญาเอก 18 คน ซึ่งปีนี้คาดว่าผู้ที่อยู่ในแวดวงการกีฬา นักกีฬา ผู้ประกอบธุรกิจจัดงาน (Organizer) ผู้จัดรายการกีฬา นักการตลาด ผู้อยู่ในแวดวงการกีฬาจะสนใจและเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต สาขาธุรกิจการกีฬาและการบันเทิง โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุม อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัคร ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2553 นี้