นายสุปรีกล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานด้านสหกรณ์ของมูลนิธิฯและซีพีเอฟ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถสนับสนุนให้ระบบสหกรณ์ในชนบทมีความเข้มแข็ง และมั่นคงยั่งยืน โดยซีพีเอฟได้เข้าไปสนับสนุนการเลี้ยงไก่ไข่ในสหกรณ์ 7 แห่ง ได้แก่ โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย จ.เพชรบุรี, โครงการตามพระราชประสงค์กลัดหลวง จ.เพชรบุรี, โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพงจ.เพชรบุรี, สหกรณ์การเกษตรหนองพลับ จำกัด, โครงการหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าละอู - ป่าเด็ง จ.ประจวบคีรีขันธ์และจ.เพชรบุรี, โครงการหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และ โครงการเศรษฐกิจพอเพียงในผืนดินพระราชทาน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.)
ทั้งนี้ ซีพีเอฟจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเทคนิค วิชาการ ตลอดจนติดตามผลการเลี้ยงไก่ไข่ในสหกรณ์ให้ได้มาตรฐานรวมถึงด้านการตลาด ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีธุรกรรมที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงไก่ไข่คิดเป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านบาทต่อปี โดยในแต่ละปีเกิดเป็นผลกำไรสุทธิประมาณ 10%หรืออาจกล่าวได้ว่าสหกรณ์ทั้ง 7 แห่งสามารถสร้างผลกำไรให้ตนเองได้ถึงปีละ4 ล้านบาท
จึงนับเป็นอีกความสำเร็จหนึ่งที่เกิดจากพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงปรารถนาให้เกษตรกรไทยได้รู้จักประกอบการพาณิชย์โดยสามารถขายผลผลิตของตนเองด้วยองค์กรที่เป็นของตนเองเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด จึงทรงสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นหมู่บ้านสหกรณ์
นอกจากนี้ การต่อยอดให้ความรู้ในระบบสหกรณ์และสร้างจิตสำนึกรักสหกรณ์ให้แก่ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์ ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ซีพีเอฟและมูลนิธิ ร่วมกันสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบสหกรณ์ ใน ”โครงการค่ายรักษ์สหกรณ์”ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-20 มิถุนายน 2553 ณ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 15 ต.หุบกะพง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยจะนำนักเรียนระดับชั้น ป.5 และ ป.6 จากโรงเรียน 8 แห่ง ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต 2 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 ที่อยู่ในพื้นที่สหกรณ์ รวม 200 คน เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน