นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า “การประกวดออกแบบ “เครื่องแต่งกายประจำชาติ” เกิดขึ้นจากการที่ได้มอบนโยบายขับเคลื่อนธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปหัตถกรรมของไทย ผ่านการการดำเนินงานของ ศ.ศ.ป. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการส่งเสริมผ้าไทย ซึ่งเป็นฝีมือและ ภูมิปัญญาของคนไทย และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมสนับสนุนให้สตรีไทยในชนบทได้มีงานทำ อีกทั้งยังเป็นสร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์” ให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้านศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อผลักดันให้สามารถแข่งขันในระดับนานาประเทศได้ นอกจากนี้ยังเป็นการปลุกกระแสความเป็นชาตินิยม สะท้อนเอกลักษณ์ประจำชาติผ่านเครื่องแต่งกาย และยังปลุกจิตสำนึกค่านิยมให้แก่คนรุ่นใหม่ ให้หันมานิยมแต่งกายด้วยชุดประจำชาติที่มีความร่วมสมัย ซึ่งเครื่องแต่งกายเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องมีการยกระดับ เพราะจะสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพ ซึ่งนับเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นไทยที่จะออกสู่ตลาดโลก และในอนาคตอาจจะมีการออกแบบผ้าไทยให้เป็นไปตามคอลเลคชั่นในแต่ละฤดูกาล”
ด้าน นายปรีชา ผ่องเจริญกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า “ที่ผ่านมา เครื่องแต่งกายประจำชาติจะเป็นชุดใส่ทางการ โดยปัจจุบันมีชุดไทยพระราชนิยม 8 ชุดสำหรับสุภาพสตรี และชุดพระราชทาน ซึ่งเป็นชุดที่ท่านประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้ริเริ่มขอพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีทั้งแขนสั้น แขนยาว แขนยาวคาดเอว ในขณะที่เครื่องแต่งกายประจำชาติอย่างไม่เป็นทางการนั้นยังไม่มี ดังนั้นการประกวดออกแบบ “เครื่องแต่งกายประจำชาติ” ในครั้งนี้ ไม่เพียงสนับสนุนให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ช่วยกันออกแบบแล้ว แต่ยังช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมไทยกันต่อไปอีกด้วย”
ส่วน นางสุรภีร์ โรจนวงศ์ ประธานสภาหัตถกรรมโลก ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน เผยว่า “การประกวดออกแบบ “เครื่องแต่งกายประจำชาติ” ในครั้งนี้ ได้แบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ชุดแต่งกายประจำชาติร่วมสมัย ทั้งชายและหญิง และชุดแต่งกายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งชายและหญิง โดยทั้ง 2 ประเภทจะเน้นการสวมใส่ได้จริง โดยเฉพาะชุดแต่งกายที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะต้องใส่ได้ทุกวัน และยังสะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งการประกวดในครั้งนี้จะเป็นเหมือนแรงกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาศึกษาวัฒนธรรมไทย เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบ แทนการสวมใส่ชุดที่เป็นวัฒนธรรมของตะวันตก การประกวดครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่จะได้พัฒนาและแสดงฝีมือกันอย่างเต็มที่”
นายกุญญพันธ์ แรงขำ ผู้อำนวยการ ศ.ศ.ป. เผยว่า “ศ.ศ.ป. มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาการตลาดของ กลุ่มสินค้าศิลปหัตถกรรมหลัก ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ เซรามิก เครื่องจักสาน และเครื่องเงินเครื่องทอง โดยเฉพาะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ถือเป็นอารยธรรมที่ต้องรักษาสงวนไว้ และเครื่องแต่งกายประจำชาตินี้ยังเป็นการแสดงออกถึงความเป็นชาตินิยม และหากมีการสนับสนุนการใช้ผ้าไทยกันมากขึ้น ยังนับเป็นการช่วยให้คนไทยได้มีอาชีพกันต่อไปอีกด้วย”
นอกจากนี้ภายในงานแถลงข่าว ยังได้ชมชุดแต่งกายประจำชาติไทย แสดงแบบโดยนางงามระดับประเทศ อาทิ ไข่มุก - ชุติมา ดุรงค์เดช มิสไทยแลนด์ ยูนิเวิร์ส 2552 ในชุดประจำชาติ ชุดไทยจักรี , วิว - พงศ์ชนก กันกลับ มิสไทยแลนด์ เวิลด์ 2552 ในชุดประจำชาติ ชุดไทยศิวาลัย และ บุ๋ม - ปนัดดา วงศ์ผู้ดี นางสาวไทย ปี 2543 ในชุดประจำชาติชุดไทยจักรพรรดิ
สนใจสมัครประกวดออกแบบ “เครื่องแต่งกายประจำชาติ” สามารถคลิกดูรายละเอียดที่ www.sacict.net หรือ www.thaicatwalk.com หรือติดต่อ 0 2616 1158 และ 08 6002 4779 โดยจะเปิดรับผลงานรูปภาพสเก็ตช์ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 กรกฏาคมศกนี้ และจะมีการคัดเลือกผลงานภาพสเก็ตช์ประเภทละ 20 ผลงาน ระหว่างวันที่ 19 — 20 กรกฎาคม โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตัดเย็บเป็นชุดจริง เพื่อเข้าสู่รอบตัดสิน ระหว่างวันที่ 2 — 13 สิงหาคม โดยจะมีการประกาศผลและมอบรางวัล ระหว่างวันที่ 24 — 28 สิงหาคม ซึ่งผู้ชนะเลิศ จะได้รับถ้วยรางวัล และเงินรางวัล 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับถ้วยรางวัล และเงินรางวัล 30,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับถ้วยรางวัล และเงินรางวัล 20,000 บาท
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร.0-2434-8300 สุจินดา, แสงนภา, ภัควลัญชญ์