ดนตรีพลิกชีวิต “คอนเสิร์ตคุณธรรมนำปัญญา ครั้งที่ 3” โครงการส่งผ่านความสุขและความดีสู่สังคม

พฤหัส ๐๓ มิถุนายน ๒๐๑๐ ๑๔:๔๐

ดนตรีพลิกชีวิตของผม จากเด็กบ้านฟ้าใสที่ได้รับโอกาสในการพิสูจน์ความสามารถด้านดนตรี “แจ็ค” เป็นเยาวชนอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ “คอนเสิร์ตคุณธรรมนำปัญญา” โดยเข้าร่วมมาตั้งปีที่แล้ว เริ่มแรกนั้นแจ๊คได้เป่า “ขลุ่ยรีคอร์เดอร์” จากนั้นแจ็คได้ฝึกฝน พัฒนาความสามารถทางด้านดนตรีมาเรื่อยๆ จนสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้อีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ “แชกโซโฟน”

“สองปีที่แล้วผมเรียนอยู่โรงเรียนฟ้าใสวิทยา เลยได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ “ดนตรีเพื่อการพัฒนาเยาวชน” ก็เลือกเล่นขลุ่ยรีคอร์ดเดอร์ เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่ชอบ และได้ขึ้นแสดงใน “คอนเสิร์ตคุณธรรมนำปัญญา ครั้งที่ 2” จากนั้นผมก็เริ่ม “รัก” ดนตรีและอยาก “เรียนรู้” เพิ่มเติม ผมได้เห็นภาพในหลวงทรงเป่า “แชกโซโฟน” เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากลองศึกษาเครื่องดนตรีชิ้นนี้”

หลังจากที่มีแรงบันดาลใจแล้ว แจ็คเริ่มเรียนรู้การเป่าแชกโซโฟนอย่างจริงจัง ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และหมั่นฝึกซ้อมเป็นประจำทุกวัน และแล้ว “ความเพียรพยามยามก็นำมาซึ่งความสำเร็จ” แจ็คได้ขึ้นแสดงเป่าแชกโซโฟนใน “คอนเสิร์ตคุณธรรมนำปัญญาครั้งที่ 3” ซึ่งการแสดงจบลงด้วยร้อยยิ้มและเสียงปรบมือดังสนั่นหอแสดงดนตรี

“ผมรู้สึกดีใจที่สามารถสร้างความสุขให้ผู้ชมผ่านทางเสียงดนตรี และภูมิใจที่ตนเองมีวันนี้ ไม่เคยคิดมาก่อนเลยครับว่าชีวิตผมจะได้ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตแล้วมีคนปรบมือให้มากมายขนาดนี้”

ถือว่าดนตรีเปลี่ยนชีวิตแจ็คจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว จากคนที่เอาแต่ใจ ขี้โมโห อารมณ์ฉุนเฉียว ไม่มีเหตุผล แต่วันนี้เขาเปลี่ยนเป็นชายหนุ่มที่สาวๆ หลายคนหลงใหล

“หลังจากที่ผ่านกระบวนการฝึกฝนทางด้านดนตรี ผมมีอารมณ์สุขุม เยือกเย็นมากขึ้น ดนตรีได้ซึมลึกในจิตใจผม ทำให้ผมอ่อนโยน จิตใจเป็นสุข และอยากทำให้ผู้อื่นมีความสุข นอกจากนี้การเล่นดนตรียังเสริมสร้างคุณธรรมที่ดีในตัวผม ทำให้ผมมีเป็นคนมีระเบียบ มีความรับผิดชอบครับ”

การแสดง “คอนเสิร์ตคุณธรรมนำปัญญาครั้งที่ 3” เสร็จสิ้นไปแล้ว แต่การส่งต่อ “ความสุข” และ “รอยยิ้ม” แก่สังคมยังคงดำเนินต่อไป

“สิ่งที่สังคมไทยขาดตอนนี้ไม่ใช่การศึกษา หรือความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็น “ความสงบ” และ “ความสุข” ผมรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นดนตรี และผมก็หวังว่ามันจะช่วยทำให้สังคมไทยของเราน่าอยู่ขึ้น ทุกๆ วันของผม จะเป็นวันที่เล่นดนตรีเพื่อสร้าง “รอยยิ้ม” และ “ความสุข” แก่คนอื่นในสังคมต่อไป”

แจ็คยิ้มที่มุมปาก ก่อนหันไปเป่าแซกโซโฟนคู่ใจ

นี่คือหนึ่งตัวอย่างของเยาวชนไทยที่ได้รับโอกาสที่ดีจากผู้ใหญ่ใจดี

“การทำงาน คือความสุข ที่ทุกคนสามารถสร้างขึ้นได้ง่ายๆ ในชีวิต และชีวิตที่ได้ทำงานมันทำให้ชีวิตมีความหมาย และถ้างานเหล่านั้นเป็นการทำเพื่อคนอื่น มันจะทำให้ชีวิตเรามีความสุขมากยิ่งขึ้น และการจะทำให้สังคมน่าอยู่ สามารถทำได้ง่ายๆ แค่การมีน้ำใจ แบ่งปันรอยยิ้ม และความสุข” คือ ปณิธาน และความเชื่อของศิลปินที่ชื่อ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ก่อตั้งมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข

ด้วยความมุ่งมั่นว่า “ดนตรี” จะเข้าไปเติมความสุข เติมโลกที่สดใส และเติมพลังให้กับชีวิตแก่เด็กและเยาวชน มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข จึงพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนหลายแห่ง ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี ซึ่งขาดโอกาสในการแสดงความสามารถ และยังขาดโอกาสในการเรียนรู้อีกหลายด้านรวมถึงโรงเรียนวัดมะเกลือ (กาญจนลักษณ์วิทยา) และกลุ่มเยาวชนพุทธมณฑล ซึ่งมีความต้องการในด้านการพัฒนาศักยภาพตนเอง ด้วยเหตุนี้มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุขจึงมีแนวคิดให้เกิดการเรียนการสอนดนตรีขึ้นในโรงเรียนดังกล่าว โดยจัดทำโครงการ “ดนตรีเพื่อการพัฒนาเยาวชน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถของเด็กและเยาวชน โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้เพื่อที่จะให้เยาวชนได้รู้จักการทำกิจกรรมเป็นหมู่คณะ รู้จักการรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความอ่อนโยน และปลูกฝังการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

รศ.ดร. สุกรีกล่าวถึงความภาคภูมิใจในการจัดโครงการว่า “มูลนิธิเราจัดครูดนตรีที่ผ่านการฝึกอบรมการสอนดนตรีเข้าไปสอนเด็กๆ โดยเด็กๆ สามารถเลือกเล่นเครื่องดนตรีที่ตนเองชอบ และถนัด จากเด็กที่ไม่เคยได้แตะเครื่องดนตรีเลย วันนี้เขามีความสุขที่ได้เล่นดนตรี เขาได้พัฒนาตนเอง ได้เจอคุณครู ได้พบเพื่อนใหม่ๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ที่สำคัญเขามีรอยยิ้ม อันนี้เป็นสิ่งที่มีค่ามาก และถือเป็นความภาคภูมิใจของคนจัดโครงการ และเด็กก็ภาคภูมิใจในตัวเขาเองด้วยที่เขาสามารถเล่นดนตรีได้ ทำให้คนอื่นมีความสุขกับเสียงดนตรีของเขา และเขาได้รับการปรบมือแสดงความชื่นชมเมื่อการบรรเลงดนตรีจบ”

ในทุกๆ ปี หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการเรียนการสอนทางด้านดนตรีแล้ว จะมีการจัดแสดงคอนเสิร์ตเพื่อโชว์ศักยภาพด้านดนตรีของเยาวชนที่ได้ฝึกฝนมาตลอดทั้งปี และทำให้เยาวชนรู้สึกมั่นใจในตัวเอง ภาคภูมิใจ และกลับออกไปใช้ชีวิตในโลกภาคนอกอย่างมีความสุข

ปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 ของการจัด “คอนเสิร์ตคุณธรรมนำปัญญา” โดยจัดให้มีการแสดงร่วมกันระหว่างเยาวชนวงดร.แซ็กเชมเบอร์ออร์เคสตร้า วงดนตรีที่เกิดจากการรวมตัวของเยาวชนที่มีใจรักในเสียงเพลง และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีนานาชาติ กับกลุ่มเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี และกลุ่มเยาวชนพุทธมณฑล ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

“เด็กๆ ที่ขาดโอกาสจะได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะการเล่นดนตรีจากเยาวชนที่เคยไปแสดงดนตรีระดับโลก ทำให้เด็กๆ ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่และไม่รู้สึกว่าถูกสังคมทอดทิ้ง ในขณะเดียวกันเด็กที่มีโอกาสก็ได้เรียนรู้จากเด็กขาดโอกาสที่ลำบากมากกว่าเขา นั่นคือ ความพยายามที่จะเรียนรู้ เพราะแม้ว่าพวกเขาจะไม่มีอุปกรณ์ดนตรีที่ดีนัก แต่เขาก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะเล่นเครื่องดนตรีนั่นให้ได้ และยิ่งไปกว่านั้น เด็กที่มีโอกาสจะได้เรียนรู้ถึงการให้ รู้จักความเมตตา และการแบ่งปัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเด็กที่มีความสมบูรณ์พร้อม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กที่มีโอกาสไม่รู้จักแบ่งปันก็จะกลายเป็นคนที่คดโกงในอนาคต” รศ.ดร.สุกรี กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข โทร.02-270-1350-4 ต่อ 116

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ