SCB EIC ชี้ GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวไม่น้อยกว่า 4%YOY แต่ระยะยาวยังน่ากังวล

ศุกร์ ๐๔ มิถุนายน ๒๐๑๐ ๐๗:๓๕
SCB EIC ชี้ GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวไม่น้อยกว่า 4%YOY แต่ระยะยาวยังน่ากังวลเพราะความวุ่นวายทางการเมืองกระทบความมั่นใจของลูกค้าส่งออกและนักลงทุนต่างประเทศ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้น SCB EIC มองว่า ในระยะสั้น ถึงแม้บางอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบหนักมาก แต่ผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีโครงสร้างที่ดี ปัญหาการเมืองเพียงอย่างเดียวมักไม่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโดยตรง อีกทั้งการส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังดีอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบระยะยาวยังน่ากังวลเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบความมั่นใจของลูกค้าส่งออกและนักลงทุนต่างประเทศที่อาจหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทน ซึ่งเป็นการเสียโอกาสและมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

“เศรษฐกิจไทยยังมีโครงสร้างที่ดี เพราะประเทศที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจส่วนใหญ่มักเกิดจาก 3 สาเหตุหลักๆ คือ (1) ขาดดุลชำระเงินสูงต่อเนื่อง (2) ปัญหาในภาคการเงินการธนาคารที่มีหนี้เสียในระดับสูง และ (3) ปัญหาด้านการคลัง หรือ รัฐบาลมีการขาดดุลการคลังมาก มีหนี้สินล้นพันตัว ซึ่งสำหรับไทยในตอนนี้ เรายังมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่ำเพราะ เรามีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 1.4 แสนล้านดอลลาร์สรอ. ซึ่งสูงกว่าหนี้สินต่างประเทศ ราว 2 เท่า ส่วนหนี้สินของภาคเอกชนก็ต่ำกว่าในอดีต ในขณะที่หนี้สินภาครัฐหรือหนี้สาธารณะอยู่ที่ราว 42% ของ GDP เท่านั้น” ดร. เศรษฐพุฒิกล่าว

ปัญหาการเมืองเพียงอย่างเดียวมักไม่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโดยตรง เช่นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ หรือกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างก็ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงกับทำให้เศรษฐกิจล้มลงรุนแรงเหมือนในกรณีวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากหนี้สินล้นพันตัวอย่างในสหรัฐฯ และกรีซ

“GDP ไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวได้กว่า 4%YOY ตามการขยายตัวของการผลิตอุตสาหกรรมที่ถูกขับเคลื่อนโดยการส่งออก และแทบเป็นไปไม่ได้ที่ GDP ในไตรมาส 2 จะเติบโตติดลบเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างการส่งออกยังดีอยู่ ล่าสุดเดือน เม.ย. การส่งออกหลังหักมูลค่าการส่งออกทองคำยังเติบโตถึง 27%YOY โดยได้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ มองไปข้างหน้า ดัชนีชี้นำการส่งออกของไทยหลายตัวก็บ่งบอกว่าการส่งออกของไทยน่าจะยังขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องในเดือน พ.ค. ทำให้การผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดี และช่วยให้ GDP เติบโตได้ไม่น้อยกว่า 4%YOY ในไตรมาส 2 ทั้งนี้ หากจะให้ GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวต่ำกว่า 4% เราจะต้องเห็นตัวเลขเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ที่แย่มาก เช่นการส่งออกเดือน มิ.ย. จะต้องชะลอลงอย่างมากเหลือเติบโตไม่ถึง 15%YOY ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือน มิ.ย. ต้องหดตัวกว่า 70%YOY (แย่กว่าเดือน พ.ค. มาก) ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก” ดร. เศรษฐพุฒิกล่าว

“สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะด้านการส่งออก การลงทุนและการท่องเที่ยว แม้ปัญหาหนี้ในยุโรปไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกมากนักเพราะเพราะเศรษฐกิจของกรีซ โปรตุเกส สเปน และไอร์แลนด์ มีขนาดเล็ก หรือเพียงราว 12% เมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบกับมูลค่าส่งออกไปยัง 4 ประเทศนี้มีมูลค่ารวมเพียง 1% ของการส่งออกไทยเท่านั้น แต่การที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอาจกระทบกับการเติบโตของการส่งออก นอกจากนี้ ปัญหาการเมืองที่มีการปิดถนนจนกระทบไปถึงการส่งออก (อย่างกรณีปิดถนนใกล้ท่าเรือแหลมฉบังจนมีการส่งออกน้ำตาลล่าช้า) หรือถึงขั้นปิดท่าเรือหรือสนามบินจริงๆ ก็มีผลกระทบความเชื่อมั่นของลูกค้าที่กังวลว่าเราจะส่งของได้ไม่ตรงเวลา และอาจทำให้เขาไปสั่งซื้อสินค้าจากคู่แข่ง ส่วนนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติก็อาจหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทน ซึ่งต่อให้ปัญหาการเมืองจบแล้วเราอาจไม่สามารถจูงใจให้ลูกค้าหรือนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติหันกลับมายังประเทศไทยได้ง่ายนัก เช่นเดียวกัน ด้านการท่องเที่ยว ปัญหาทางการเมืองก็ทำให้กว่า 10 ประเทศซึ่งมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ประกาศเตือนนักท่องเที่ยว (travel warning) ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมากรุงเทพฯ และประเทศไทยแล้ว และก็ยากที่จะคาดเดาว่าเมื่อไรการท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมาดีเหมือนเดิม” ดร. เศรษฐพุฒิกล่าว

ติดตามรายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมได้ใน SCB Outlook ฉบับเดือนมิถุนายน 2553 สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953 อีเมล [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version