พิธีสารส่งออกผักและผลไม้ไทย-จีน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 48

ศุกร์ ๑๑ มีนาคม ๒๐๐๕ ๑๕:๕๕
กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--กรมวิชาการเกษตร
“พิธีสารส่งออกผักและผลไม้ไทย-จีน” จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 48 นี้ กรมวิชาการเกษตรเร่งเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน มะม่วง มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย นำสวนเข้าสู่ระบบ GAP โรงคัดบรรจุต้องได้ GMP มุ่งการันตีคุณภาพสินค้าส่งออก อนาคตผลไม้แข่งขันสูง เวียดนาม-ฟิลิปปินส์-พม่ามาแรง
นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชระหว่างประเทศไทยกับจีน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมลงนามในพิธีสารการส่งออกผักและผลไม้ กับกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรค(AQSIQ)ของจีนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 นี้ โดยข้อสรุปของพิธีสารดังกล่าว ได้กำหนดมาตรการดำเนินการด้านศัตรูพืชและสารตกค้างต่างๆในผลไม้จากจีนมาไทย ได้แก่ แอปเปิ้ล แพร์ พืชตระกูลส้ม พุทรา และองุ่น และจากไทยไปจีน 5 ชนิด คือ ทุเรียน มะม่วง มังคุด ลิ้นจี่ และลำไย โดยเฉพาะลำไย ทุเรียน และมะม่วงของไทยที่จะส่งออกไปจีนต้องมาจากสวนที่ได้รับการรับรองระบบเกษตรดีที่เหมาะสมหรือ GAP จากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งคาดว่าจะมีมากกว่า 20,000สวนที่พร้อมจะเข้าสู่ระบบ GAP ได้ในขณะนี้
ทั้งนี้ พิธีสารดังกล่าวจะทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกร ผู้ตรวจรับรองแหล่งผลิต โรงคัดบรรจุ รวมถึงผู้ส่งออก ซึ่งจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในกรณีที่สินค้ามีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องสารพิษตกค้าง ว่ามาจากสวนใดซึ่งจะตรวจสอบได้จากโค๊ด(Code)ที่ติดอยู่กับภาชนะบรรจุสินค้า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรมีการเตรียมการล่วงหน้า โดยต้องเร่งยื่นขอรับรองแหล่งผลิตตามระบบ GAP และโรงคัดบรรจุสินค้าต้องเข้าสู่ระบบ GMP ซึ่งผลไม้ 5 ชนิดดังกล่าวที่จะส่งไปจีนต้องมีฉลากติดกับภาชนะบรรจุ โดยระบุทะเบียนผู้ส่งออก ทะเบียนโรงบรรจุสินค้า และมีทะเบียนสวนด้วย ส่วนสินค้าพืชผัก และผลไม้อื่นๆ ที่มีการค้าขายกันอยู่นอกเหนือจากที่ระบุในพิธีสาร ประเทศจีนจะไม่ออกมาตรการพิเศษใดๆ ที่จะเป็นอุปสรรคกับการค้าของไทย เพื่อไม่ให้เกิดการหยุดชะงักทางการค้า
“อนาคต ผลไม้ไทยต้องแข่งขันกับต่างประเทศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม และพม่าซึ่งมีคุณภาพการผลิตดีขึ้น หากเกษตรกรนำสวนเข้าสู่ระบบ GAP ของกรมวิชาการเกษตร คาดว่าจะเป็นเครื่องหมายที่ช่วยรับรองคุณภาพสินค้าได้ ซึ่งผลผลิตของเกษตรกรจะมีคุณภาพมากขึ้น จะส่งผลให้แข่งขันได้และขายได้ราคาดี โดยเฉพาะสวนลำไยจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 80 % จากเดิมได้สวนละไม่เกิน 60 % มังคุดเพิ่มขึ้นเป็น 70 % จากเดิมได้เพียง 50 % ในอนาคตคาดว่า GAP ช่วยผลักดันพืชผัก และผลไม้ของไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงอยากให้เกษตรกรนำสวนผลไม้เข้าสู่ระบบ GAP ของกรมวิชาการเกษตร โดยสามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขตทั่วประเทศ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ