นักวิชาการผังเมืองระดมสมองแก้ปัญหาพื้นที่ "มาบตาพุด"

จันทร์ ๐๗ มิถุนายน ๒๐๑๐ ๑๕:๓๓
คณะกรรมการ 4 ฝ่าย เล็งปิดงานสิ้นเดือน มิ.ย. “บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” เผยเตรียมส่งไม้ต่อให้พื้นที่ รับโจทย์ต่อไป ฉายภาพมาบตาพุดวันนี้ มีตั้งแต่เขตควบคุมมลพิษ การต่อสู้ฟ้องร้อง เชื่อหากไม่มีกรณีมาบตาพุด ม. 67 วรรคสอง อาจถูกฉีกทิ้งไปแล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายสถาบันทางปัญญา ประชุมปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย ครั้งที่ 34 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องประชุม 1 สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดี กรุงเทพมหานคร โดยมีการนำเสนอเรื่อง “การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและปัญหาที่มาบตาพุด” จากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึง โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 2524 และถูกบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 5 เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยมองว่า หากเดินหน้าโดยใช้ฐานทางเกษตรกรรม การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจจะไม่เทียบเท่านานาชาติ จึงมีการพัฒนาขนานใหญ่ เพื่อการนำไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ พัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ซึ่งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่โดนท้วงติงมาตลอด จนมาปรากฎปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวอีกว่า ปัญหาของมาบตาพุดได้สะท้อนให้เห็นใน 3 ประเด็นปัญหาหลัก คือ 1.อยากให้มีแนวทางการพัฒนาแบบโครงการพัฒนาพื้นที่ชายทะเลตะวันออกต่อไปหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นหลายส่วนในชายฝั่งทะเลตะวันตก และชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่นำมาสู่อุตสาหกรรมหนัก และก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง 2. การกอบกู้ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และความรับผิดชอบของภาคเอกชนสำคัญอย่างยิ่ง คือ ยังมีชาวบ้านขัดขวาง เกิดเป็นความขัดแย้ง ต่อต้านทุกพื้นที่ หากปล่อยไว้จะไม่แตกต่างจากวิกฤตเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง หรือวิกฤตทางการเมือง ซึ่งจะมองไม่เห็นทางออก และ 3. การปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม แม้จะมีกฎหมายค่อนข้างดี แต่ยังขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ หนึ่งในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย กล่าวว่า มาบตาพุดวันนี้ มีภาพตั้งแต่เขตควบคุมมลพิษ การต่อสู้ฟ้องร้อง และอาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีกรณีมาบตาพุด มาตรา 67 วรรคสอง อาจถูกฉีกทิ้งไปแล้ว ซึ่งเมื่อมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น มาตรานี้จึงฟื้นคืนชีพขึ้นมา จนเกิดคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยคำสั่งแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี คาดว่าสิ้นเดือนนี้ คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะยุติการทำงาน

“กระบวนการนโยบายสาธารณะของประเทศที่มีปัญหาอยู่ มาตรา67 วรรคสอง สะท้อนถึงกระบวนการนโยบายสาธารณะในหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องของกติกา การมีส่วนร่วม เรื่ององค์กรที่ต้องไปถ่วงดุลกับการตัดสินใจของภาครัฐ เห็นมิติในเรื่องของเครื่องมือในการตัดสินใจ เช่น HIA เฉพาะแค่มาตราเดียวได้เปลี่ยนและพลิกกระบวนการนโยบายสาธารณะของประเทศไทย”

นายบัณฑูร กล่าวถึงโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯ ว่า มีความพยายามตั้งแต่ปี 2551 จะหาคำตอบเรื่องนี้ ซึ่งหลังจากคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ ที่มี ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ เป็นประธาน มีกำหนดประชุมครั้งสุดท้าย เพื่อร่างรายการประเภทโครงการ/กิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง คาดว่าจะมีประมาณ 19 + 3/4 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการ 4 ฝ่าย วันจันทร์ที่ 7 มิ.ย. นี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อไปที่นายกรัฐมนตรีว่าจะมีการประกาศออกมาเป็นจำนวนเท่า ไหร่

สำหรับการจัดทำผังเมืองและพื้นที่กันชน นายบัณฑูร กล่าวว่า คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ทำเสร็จและส่งให้นายกรัฐมนตรีไปแล้ว หนึ่งเรื่องคือเขตกันชน ส่วนเรื่องอื่นๆ ได้มีสรุป แต่ยังไม่ได้ส่งไปที่นายกรัฐมนตรี รวมทั้งยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหา การปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะปิดงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดภายในเดือนนี้

"วันนี้คงค้องมองข้ามภารกิจคณะกรรมการ 4 ฝ่ายไปแล้ว กลไกสำคัญ คือ ในพื้นที่ที่จะรับโจทย์ต่อไป ข้อเสนอที่ภาคีที่เกี่ยวข้องคุยกันไว้ คืองานที่จะทำขับเคลื่อนคู่ขนานกับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และรับมือหลังสิ้นเดือนนี้ ทั้งงานเสริมสร้างความรู้เรื่องผังเมือง การปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ ซึ่งได้รับอนุมัติไปแล้ว ส่วนเรื่องศึกษาศักยภาพของพื้นที่เดิมเป็นโจทย์เรื่องมลพิษทางอากาศ ปัจจุบันมีเรื่องทรัพยากรน้ำ การแบ่งสรรน้ำ และการจัดการกากของเสีย สิ่งปล่อยมาจากโรงงานอุตสาหกรรม"

ส่วนนางภารนี สวัสดิรัตน์ นักวิชาการอิสระ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวถึงข้อเสนอเพื่อพิจารณาการใช้ที่ดินเพื่อเป็นพื้นที่กันชน และปรับแก้ไขการใช้ที่ดิน กรณีมาบตาพุดว่า ขณะนี้ ผังเมืองในจังหวัดระยองมีการเปลี่ยนไป พื้นที่มลพิษมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่สีเขียวลดลง เหตุผลการขอเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมในการวางผังเมืองที่ผ่านมา คือพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการลงทุน โดยไม่รู้ว่า ไม่เพียงพอนั้นมีโรงงานกี่โรง เป็นอุตสาหกรรมประเภทไหนบ้าง

“ผังมาบตาพุดกำลังปรับใหม่ ได้มีการคุยกับผู้วางผังและกรมโยธาธิการ ควรจะขอกระชับและคืนพื้นที่ โดยดูพื้นที่ที่ขายจริงและใช้ไปเท่าไหร่ ซึ่งน่าจะมีการใช้กลไกช่วยเรื่องนี้ได้ เพราะ HIA ไม่สามารถจะหยุดโครงการได้ แต่ต้องหยุดด้วยการประเมินยุทธศาสตร์ พื้นที่ตรงนี้ยังเหมาะรองรับอุตสาหกรรมในอนาคตอีกหรือไม่ พื้นที่ว่างยังไม่ถูกใช้เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่กันชน หรืออาจใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น”

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ
๑๖:๑๘ ทรู คอร์ปอเรชั่น เตรียมเปิดจองซื้อหุ้นกู้ชุดใหม่รับปีมะเส็ง ตอบโจทย์นักลงทุนที่มองหาโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง
๑๖:๒๕ วัน แบงค็อก เตรียมเฉลิมฉลองเคาท์ดาวน์ศักราชใหม่สุดยิ่งใหญ่
๑๖:๐๖ EXIM BANK โชว์ศักยภาพ SFI แห่งแรกได้รับมาตรฐานสากล ISO 14064-1:2018 เดินหน้าบทบาท Green Development Bank
๑๖:๑๙ ซานตาคลอส ฟลายอิ้ง ส่งความสุขในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๑๖:๔๓ Spacely AI คว้ารางวัลที่สาม ในการแข่งขันนวัตกรรมระดับโลกของ SketchUp
๑๖:๓๒ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทุ่มกว่า 1.6 ล้าน มอบความห่วงใย ร่วมฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังจากน้ำท่วมใหญ่
๑๖:๒๑ NRF เปิดตัว Mini C สาขาใหม่ในสหราชอาณาจักร ตอกย้ำกลยุทธ์ค้าปลีกแบบ Hub and Spoke ยอดขายทะลุเป้า พร้อมกระแสรีวิว 5 ดาวจากลูกค้า
๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย