รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ได้ดำเนินแผนงานปรับปรุงด้านกายภาพมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บท มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา ฉบับใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล ก้าวสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยเมืองในฝัน เมืองน่าอยู่และเสริมสร้างสุขภาวะ” เพื่อให้มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งนักศึกษา เจ้าหน้าที่ ครอบครัว คณาจารย์ รวมถึงประชาชนรอบมหาวิทยาลัยดีขึ้น
“เป้าหมายหลักของโครงการปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพ นอกจากจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพคือสร้างพื้นที่ในมหาวิทยาลัยร้อยละ 70 ให้เป็นสีเขียวแล้ว เรายังหวังให้เกิดบรรยากาศในการสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม พร้อมทั้งปลูกจิตสำนึกสีเขียวให้กับศึกษาและเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย เรียกว่าเป็น Green Lifestyle อย่างเช่น โครงการเติมหัวใจให้ถนน เป็นการลดพื้นที่จราจรครึ่งหนึ่งเพื่อเปลี่ยนเป็นทางเดินเท้าและทางจักรยาน ทั้งยังสามารถใช้พื้นที่จัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่หลากหลาย โครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย เพื่อลดการปล่อยน้ำออกสู่ชุมชน ซึ่งได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบบ่อน้ำบัดน้ำเสีย เพื่อเป็นสถานที่ออกกำลังกายอีกแห่งหนึ่งของบุคคลทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย หรือสำหรับโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ นอกจากจะเป็นสวนสมุนไพรขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในเขตปริมณฑลแล้ว ก็จะเป็นพื้นที่สำหรับการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และห้องปฏิบัติการทางธรรมชาติที่น่าอยู่และร่มรื่นด้วย” รศ.ดร.อนุชาติกล่าว
ในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จึงได้ประกาศนโยบายสีเขียว Green Campus เพื่อให้ป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นแหล่งการเรียนรู้งานวิชาการ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน โดยถึงขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีหลายโครงการของงานปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพที่แล้วเสร็จ อาทิ โครงการบ้านรักหมา โครงการแนวรั้วสีเขียวบนเนินดิน โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบเรือนไทย สำหรับจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมไทย รวมทั้งเป็นที่อนุรักษ์ต้นสะแกทุ่งและหมู่นกท้องถิ่น โครงการรถราง บริการขนส่งมวลชนแบบเชิงอนุรักษ์ โครงการก่อสร้างที่จอดรถจักรยาน และส่งเสริมการขี่จักรยาน รวมทั้งอีกหลายโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่สร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียวและสร้างรายได้พิเศษให้กับนักศึกษา เจ้าหน้าที่ และประชาชนรอบมหาวิทยาลัย คือโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล เพื่อปลูกฝังการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะในมหาวิทยาลัยได้เป็นจำนวนมาก โครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพจากเศษกิ่งไม้ในมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปใช้บำรุงรักษาต้นไม้ในมหาวิทยาลัยและส่วนที่เหลือยังนำไปจำหน่ายได้ โครงการแปลงผักปลอดสารพิษ โดยให้เจ้าหน้าที่และประชาชนสามารถใช้พื้นที่เพื่อปลูกผักปลอดสารพิษ โดยผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายในราคาย่อมเยา
“เราใช้โครงสร้างด้านกายภาพสร้างพื้นที่ทั่วมหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ เพราะ Green Campus ไม่ใช่แค่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว แต่เราจะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่โอบอุ้มการมีชีวิต เป็นห้องเรียนธรรมชาติสำหรับทุกคน และที่สำคัญสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่ใช่จะอยู่แค่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย แต่ยังเชื่อมโยงกับชุมชนรอบนอก ที่เป็นความรับผิดชอบของสถาบันต่อสังคมด้วย” รศ.ดร.อนุชาติกล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2633-9950 บริษัท สยามเมนทิส จำกัด